รองเท้าดัดขา แก้ปัญหาขาโก่ง เท้าแบน ของเด็กๆ ได้หรือไม่

รองเท้าดัดขา แก้ปัญหาขาโก่ง เท้าแบน ของเด็กๆ ได้หรือไม่

HIGHLIGHTS:

  • ขาโก่ง คืออาการที่หัวเข่าออกมาด้านนอกมากเกินไปจากแนวขา สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และพบได้บ่อยในทารก บางรายสามารถหายเองได้เมื่อเด็กโตขึ้น
  • การเดินด้วยปลายเท้าเป็นเรื่องปกติในเด็กวัยหัดเดิน อาการเดินเขย่งเท้าจะหายไปเมื่ออายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังพบได้ในบางคน การเดินด้วยปลายด้วยเพียงแค่ครั้งคราวจึงยังไม่ใช่เรื่องที่ผู้ปกครองจะต้องกังวล
  • เมื่อเด็กเริ่มเดินเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องปกติที่จะเดินโดยแยกเท้าออกจากกันและเหยียดแขนออกเพื่อช่วยในการทรงตัว หรือ เดินโดยหันเท้าออกด้านข้าง แต่ถ้าโตขึ้นเด็กยังมีท่าเดินที่ผิดปกติ รองเท้าดัดขา เป็นหนึ่งทางเลือกที่ช่วยแก้ไขอาการผิดปกติได้

เป็นเรื่องปกติของเด็กที่เมื่อเริ่มเดินเป็นครั้งแรก จะเดินโดยแยกเท้าออกจากกันและเหยียดแขนออกเพื่อช่วยในการทรงตัว  นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องปกติที่เด็กเล็กจะเดินโดยหันเท้าออกด้านข้าง เพราะข้อสะโพกด้านหลัง มักจะหดยึดและค่อยๆ ยืดออกเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เท้าบิดกลับมาสู่ท่าปกติของเด็ก แต่ถ้าโตขึ้นเด็กยังมีท่าเดินที่ผิดปกติ รองเท้าดัดขาเป็นหนึ่งทางเลือกที่ช่วยแก้ไขอาการผิดปกติ อาทิ เท้าแบน ขาโก่ง ขาผิดรูปแบบเข่าชนกันได้

อาการผิดปกติของเท้าเด็ก

เท้าแบน

หากเด็กมีลักษณะเท้าแบนราบ ไม่ต้องกังวลมากเพราะเท้าแบนมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แพทย์จะพิจารณาการรักษาเฉพาะในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดขาที่มากเกิน นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้เด็กสวมใส่รองเท้าแบบพิเศษ เช่น รองเท้าทรงสูง เนื่องจากไม่ส่งผลต่อการพัฒนาส่วนโค้งของรูปเท้า ในบางรายผู้ปกครองมักกังวลว่าเด็กที่มีเท้าแบนจะส่งผลต่อความผิดปกติของลูกในอนาคต แพทย์แนะนำว่าเท้าแบนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาเหตุให้กังวล และสามารถเล่นกีฬาได้ ในบางกรณีแพทย์จะแนะนำให้ใส่ส่วนรองรับส่วนโค้งของเท้าเข้าไปในรองเท้า เพื่อลดอาการปวดเท้า

ขาโก่ง (Bowlegs)

ขาโก่งคืออาการที่หัวเข่า ออกมาด้านนอกมากเกินไปจากแนวขา ซึ่งอาการนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และพบได้บ่อยในทารกและบางรายก็สามารถหายเองได้เมื่อเด็กโตขึ้น ทั้งนี้ผู้ปกครองควรพาลูกๆ มาตรวจเพื่อวินิจฉัย โดยแพทย์จะให้เด็กลองเดิน เพื่อสังเกตว่ามีความผิดปกติของอาการขาโก่งหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะได้แก้ไขแต่เนิ่นๆ

ส่วนอาการขาโก่งของเด็กที่อายุเกิน 2 ขวบ หรือเป็นข้างเดียวอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ใหญ่กว่า เช่น

โรคกระดูกอ่อน (Rickets) คือภาวะที่มีความบกพร่องในการสะสมแคลเซียมในกระดูก โรคนี้มักได้รับการแก้ไขโดยการเพิ่มวิตามินดีและแคลเซียม อย่างไรก็ตามโรคกระดูกอ่อนบางประเภทเกิดจากภาวะทางพันธุกรรมและอาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ

โรคเบลาท์ (Blount) เป็นภาวะที่มีผลต่อกระดูกแข้ง จะพบได้เมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ ไม่ทราบสาเหตุของโรค แต่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ที่ด้านบนของกระดูกแข้ง สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเมื่อเด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 4 ขวบ

ขาผิดรูปแบบเข่าชนกัน (Knock-Knee)

เด็กส่วนใหญ่ มีแนวโน้มในการเป็น ขาฉิ่ง ระหว่างอายุ 3 ถึง 6 ขวบ เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวและเจริญเติบโตตามธรรมชาติ โดยอาจไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะขามักจะยืดตรงได้เอง แต่ในเด็กบางคนที่มีอาการผิดปกติมาก เช่น ข้อเข่าชิดกัน ขาท่อนปลายเฉียงออกด้านนอกจากแกนตามความยาวของกระดูกต้นขา แพทย์จะประเมินว่าเป็นลักษณะที่ผิดปกติหรือไม่และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เดินเขย่งเท้า (Toe Walking)

การเดินด้วยปลายเท้าเป็นเรื่องปกติในเด็กวัยหัดเดิน เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะเดิน มีแนวโน้มว่าอาการเดินเขย่งเท้าจะหายไปเมื่ออายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังพบได้ในบางคน การเดินด้วยปลายเท้าเพียงแค่ครั้งคราวยังไม่ใช่เรื่องที่ผู้ปกครองควรจะกังวล แต่ถ้าเด็กเดินด้วยปลายเท้าตลอดเวลา และทำเช่นนั้นต่อไปหลังอายุ 3 ขวบ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษา และรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะออกแบบรองเท้าดัดขาที่เหมาะสมกับรูปเท้า การเดินด้วยปลายเท้าอย่างต่อเนื่องในเด็ก อาจเชื่อมโยงกับภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น สมองพิการ ความผิดปกติของกล้ามเนื้ออ่อนแรง

เดินปลายเท้าบิดเข้าด้านใน (In-toeing)

เด็กอายุระหว่าง 2 – 5 ขวบจำนวนไม่น้อยที่เดินโดยปลายเท้าบิดเข้าด้านใน พบว่าสาเหตุมาจาก กระดูกขาที่บิดเปลี่ยนไป หรือจากร่างกายปรับรูปร่างเท้าเพื่อช่วยในการทรงตัว ในเด็กส่วนใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 8 ปี ร่างกายมักจะปรับตามธรรมชาติเข้าสู่ภาวะปกติเอง โดยไม่ต้องรับการดูแลพิเศษใด ๆ แต่ในกรณีที่เด็กมีอาการปวดบวมหรือผิวของเท้าด้าน จากการถ่ายน้ำหนักผิดปกติ ควรได้รับการประเมินโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อเพื่อรับการรักษา

คุณสมบัติของรองเท้าดัดขา

  • ขนาด รองเท้าที่มีขนาดใหญ่กว่าเท้าเล็กน้อย ดีกว่ารองเท้าที่เล็กและรัด
  • ความยืดหยุ่น รองเท้าที่มีส่วนประกอบไม่แข็งเหมาะสำหรับเท้า ทำให้เคลื่อนไหวได้ดี ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาความแข็งแรง และการคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นของเท้า เท้าของเด็กต้องการการป้องกันจากความเย็นและของแหลมคม พื้นรองเท้าแบบราบซึ่งไม่ลื่นหรือเหนียวเกิน จะดีที่สุด
  • วัสดุ เป็นวัสดุแบบอากาศถ่ายเทได้เหมาะที่สุด โดยเฉพาะกับโซนประเทศภูมิอากาศร้อน

การเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับลูก

  • ขนาดต้องพอดีกับเท้า แนะนำให้ลองใส่แล้วยืนเขย่งเท้าดู ถ้าส้นหลุดก็แปลว่ารองเท้าที่เลือกมีขนาดใหญ่เกินไป และไม่ควรซื้อรองเท้าเผื่อโต เพราะอาจจะทำให้ลูกๆ ต้องคอยเกร็งหรือจิกนิ้วเท้าเวลาเดินได้
  • ควรเลือกแบบที่มีส่วนหัวกว้างหรือป้าน และไม่บีบรัดช่วงปลายนิ้วเท้า หรือแบบที่มีสายรัดกระชับข้อเท้าและมีที่หุ้มข้อเท้าที่แข็งแรง เพราะจะช่วยประคองให้เด็กทรงตัวได้ดีขึ้น รวมถึงแบบที่มีเชือกผูกหรือมีตีนตุ๊กแก เพราะจะสามารถยึดส้นเท้าให้อยู่กับที่ และป้องกันไม่ให้เท้าไถลไปข้างหน้า ซึ่งอาจจะทำให้นิ้วเท้าได้รับบาดเจ็บได้
  • พื้นรองเท้า ไม่ควรหนาเกินไป และควรทำมาจากวัสดุที่นุ่ม น้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้ดี ไม่ลื่น เพราะจะทำให้เด็กสามารถควบคุมเท้าและทรงตัวขณะเดินได้
  • ด้านในรองเท้าไม่ควรมีรอยตะเข็บหรือขอบแข็งๆ เพราะอาจจะเสียดสีกับเท้าตอนเดิน ทำให้ลูกไม่อยากใส่รองเท้า
  • เลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความชื้นจากเหงื่อและการเกิดเชื้อราที่เท้า
  • ไม่ควรซื้อรองเท้ามือสอง เพราะอาจจะมีเชื้อโรคติดมาได้ และประสิทธิภาพในการใช้งานก็อาจไม่ดีเท่ารองเท้าใหม่

ปัญหาที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น มีวิธีป้องกันและแก้ไขโดยการเลือกรองเท้าให้ลูกที่เหมาะสม กับสรีระของเท้า หากมีปัญหาหรือพบความผิดปกติควรปรึกษาศัลยแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

  • ศูนย์กระดูก ข้อ กระดูกสันหลังและการแพทย์กีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท 02-022-2494-6
  • ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด โรงพยาบาล สมิติเวช ศรีนครินทร์ 02-378-9087
  • ทำนัดปรึกษาแพทย์เรื่องรองเท้าดัดขา ติดต่อ Inbox เพจ Samitivej Club คลิก

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?