สาเหตุของอาการท้องผูก
อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นเมื่อของเสียหรืออุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้าเกินไป หรือไม่สามารถกำจัดออกจากทวารหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง อาการท้องผูก มีหลายสาเหตุ ดังนี้
1. การอุดตันในลำไส้ใหญ่ หรือ ทวารหนัก
การอุดตันในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักอาจทำให้การเคลื่อนไหวของอุจจาระช้าลงหรือหยุดการทำงาน โดยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- แผลปริที่ขอบทวารหนัก (anal fissure) เป็นรอยฉีกหรือแผลเปิดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณทวารหนักหรือมีเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ
- การอุดตันในลำไส้ (bowel obstruction)
- มะเร็งลำไส้ การตีบตันของลำไส้ใหญ่ (bowel stricture)
- มะเร็งช่องท้องอื่น ๆ ที่กดทับลำไส้ใหญ่
- มะเร็งช่องทวารหนัก
- ไส้ตรงนูนผ่านผนังด้านหลังของช่องคลอด (rectocele)
2. ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ปัญหาทางระบบประสาทอาจส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนักหดตัวและการเคลื่อนอุจจาระผ่านลำไส้ มีปัจจัยดังนี้
- เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย (autonomic neuropathy)
- โรคปลอกประสาทอักเสบ หากเกิดที่ไขสันหลังหรือสมองผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรง สูญเสียความสามารถในการทรงตัว รวมถึงปัสสาวะหรืออุจาระผิดปกติ
- โรคพาร์กินสัน
- การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
3. ภาวะการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานบกพร่อง
ความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลำไส้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาดังนี้
- หูรูดลำไส้ทำงานผิดปกติ (anismus) ไม่สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้
- การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง (dyssynergia)
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง
4. สภาวะที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย
ฮอร์โมนช่วยให้ของเหลวในร่างกายสมดุล โรคและภาวะต่างๆ ที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้ท้องผูก ได้แก่
- โรคเบาหวาน
- ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism)
- การตั้งครรภ์
- ไทรอยด์ทำงานน้อย (พร่อง)
