การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะข้อเข่าเสื่อมเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเข่าในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอายุน้อยที่เคยมีการบาดเจ็บที่เข่ามาก่อนหรือมีโรคประจำตัวบางอย่างที่สร้างความเสียหายให้กระดูกอ่อนภายในข้อเข่า หากปล่อยไว้นานอาจทำให้กระดูกเข่าถูกทำลายเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการโก่งผิดรูปและมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม นิยมใช้ในผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่น แต่อาการไม่ดีขึ้น
  • การพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น อายุ น้ำหนัก ระดับกิจกรรม รูปร่างของเข่าและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ด้วยการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาปวดเข่าเรื้อรัง หรือข้อเข่าที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยรักษาด้วยการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน  หรือการรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่น แต่อาการไม่ดีขึ้น

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม (Knee Replacement) คือ การผ่าตัดโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพออก  จากนั้นจึงนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากโลหะมาใส่แทน แล้วยึดด้วยซีเมนต์สำหรับกระดูกโดยมีโพลีเอทีลีนเป็นส่วนรองรับน้ำหนัก  ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานเข่าได้ตามปกติภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

สาเหตุที่ทำให้เข่าเสียสภาพ

  • ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Arthritis) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) การติดเชื้อในข้อเข่า เป็นต้น การที่ข้อเข่ามีการอักเสบเรื้อรังจะทำให้เยื่อหุ้มข้อหนาตัวขึ้นและสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากเกินไป ทำให้เข่ามีภาวะบวมแดงและทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าอย่างรุนแรงได้ หากปล่อยให้ภาวะอักเสบเรื้อรัง กระดูกเข่าอาจถูกทำลายเสียหาย
  • ภาวะข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ส่วนใหญ่พบตั้งแต่ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูกเสื่อมตามวัย
  • ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากผู้ป่วยเคยประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงจนกระดูกเข่าแตกหรือร้าวหรือเคยผ่าตัดมาก่อน

สัญญาณและอาการของภาวะข้อเข่าเสื่อม ที่ควรมาพบแพทย์

1.ปวดเข่า โดยเฉพาะเมื่อเดินขึ้น-ลงบันได ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจปวดขณะนั่งหรือนอนด้วย

มีอาการเจ็บแปล๊บที่ข้อเข่าเวลาเดิน หรือขึ้น ลงบันได เวลาใส่ถุงเท้า รองเท้า หรือขณะลุกนั่ง และเวลานอน ไม่สามารถเดินได้ปกติ ต้องเดินโยกตัว

2.ข้อเข่าอักเสบ จนมีภาวะบวมแดง

มีความเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าเป็นระยะเวลานาน เรื้อรังจนมีภาวะของอาการอักเสบแทรกซ้อน ทำให้บริเวณข้อเข่าเกิดภาวะบวมแดงร่วมด้วย หากมีอาการเช่นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

3.ข้อเข่าผิดรูป

ส่งผลต่อการเดินและความสมดุลของร่างกาย ทำให้มีอาการปวดหลังและอาการปวดร้าวลงสะโพกร่วมด้วย และภาวะข้อเข่าผิดรูปยังส่งผลทำให้ผู้ป่วยเดินตัวเอียงและกระดูกสันหลังเสื่อมตามมา ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีแก้ไขที่ต้นเหตุที่ดีที่สุด

4.ไม่สามารถงอหรือเหยียดเข่าได้สุด

มีอาการเวลาเดินทำให้ต้องกางขากว้างขึ้น กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง หรือลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรงร่วมด้วย

การวินิจฉัยภาวะข้อเข่าเสื่อม

  • ซักประวัติและตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยเฉพาะอาการปวด ลักษณะเข่าที่ผิดปกติ ความสามารถในการเดินและการใช้งานของเข่า
  • เอกซเรย์ เพื่อดูสภาพความเสียหายของเข่า
  • MRI ดูรายละเอียดของกระดูกอ่อน และเส้นเอ็นภายในเข่า รวมถึงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆ กระดูกเข่า

การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถทำได้ในช่วงอายุที่หลากหลาย ขึ้นกับข้อบ่งชี้ โดยต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.การเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (Total Knee Replacement)

Total Knee Replacement เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายของกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและนอก (Medial and lateral compartment) ออกทั้งหมด จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น  ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก มักทำการผ่าตัดแบบนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกอ่อนและเอ็นภายในข้อเข่าอย่างมากแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอายุมาก (> 60ปี) มีแนวขาที่ผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งการผ่าตัดจะสามารถแก้ไขได้ในคราวเดียวกัน

2.การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบเฉพาะฝั่ง (Unicompartmental Knee Replacement)

เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายออก ทั้งกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เฉพาะด้านในหรือด้านนอก (Medial or lateral compartment) จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น มักทำในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกยังไม่มากและเป็นเฉพาะฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นการผ่าตัดที่สามารถเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ รวมถึงเส้นเอ็นภายในข้อเข่าให้อยู่ในสภาพเดิม ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด อีกทั้งยังสามารถลงเดินลงน้ำหนักได้หลังผ่าตัดเพียง 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเปลี่ยนข้อเข่าให้เหมาะสม ขึ้นกับการวินิจฉัยสาเหตุ ระยะของพยาธิสภาพรวมถึงการประเมินช่วงการเคลื่อนไหว ความมั่นคง และความแข็งแรงของข้อเข่า นอกจากนี้การตัดสินใจเลือกรุ่นของข้อเข่าเทียมและเทคนิคการผ่าตัดยังต้องคำนึงถึง อายุ น้ำหนัก ระดับกิจกรรม รูปร่างของเข่าและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

เมื่อการผ่าตัดผ่านพ้นไป ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์  โดยใช้ไม้ช่วยพยุงการเดินในช่วงแรกโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่ายึดติดจนไม่สามารถงอเข่าหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก และข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง  ดังนั้นการพบแพทย์ตามนัดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะเกิดอะไรขึ้น

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมถือเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อแก้ปัญหาภาวะเจ็บปวดบริเวณเข่า ซึ่งสร้างความทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อการรักษาด้วยยาหรือการรักษาด้วยทางเลือกอื่นๆ ไม่ได้ผลอีกต่อไป นอกจากนี้ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ยอมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อาการบาดเจ็บอาจทำให้ถึงจุดที่ผู้ป่วยเดินไม่ไหวและมีความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และในผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่มีอยู่หลายอย่าง เช่น ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมหรือภาวะข้อเสื่อมในบริเวณอื่น  ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

คำถามที่พบบ่อย

1.TKA กับ TKR ต่างกันอย่างไร

TKA: Total Knee Arthroplasty และ TKR: Total Knee Replacement ทั้ง 2 คำมีความหมายเดียวกันคือ การเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด ที่เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายของกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและนอก (Medial and lateral compartment) ออกทั้งหมด จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นพลาสติกกั้น มักทำในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกอ่อนและเอ็นภายในข้อเข่าอย่างมากแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอายุมาก (> 60ปี) มีแนวขาที่ผิดรูปร่วมด้วย

2.ข้อเข่าเทียม มีอายุการใช้งาน นานกี่ปี

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Lancet ที่ได้ศึกษาเรื่อง How long knee or hip replacements last, and how their durability is affected by the person’s age at the time of surgery

  • ในบรรดาผู้ป่วยมากกว่า 60,000 คนที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก มีเพียง 4% เท่านั้นที่เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในช่วง 10 ปีหลังการผ่าตัดครั้งแรก
  • ในบรรดาผู้ป่วยมากกว่า 55,000 คนที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า มีเพียง 3.9% เท่านั้นที่เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในช่วง 10 ปีหลังการผ่าตัดครั้งแรก

3.การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเข่า ทำได้อย่างไรบ้าง

การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา การเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อขา และการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันให้ได้มากที่สุดเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจใช้ไม้ช่วยพยุงการเดินในช่วงแรกโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ไม่แน่ใจว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือไม่ ทำนัดปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call ก่อนได้ คลิกที่นี่

ปวดเข่า video call

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?