จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในกรณีที่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำ self-quarantine เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ หมอมีคำแนะนำดีๆ มาฝากพ่อแม่ในการพูดคุยเรื่องนี้กับลูกๆ เพื่อให้ลูกหลานคุณอยู่ได้ในระยะเวลาดังกล่าว
วิธีอธิบายเรื่องการระบาดของโรค COVID-19 ให้ลูกฟัง
ก่อนจะ กักตัว 14 วัน ให้พูดอธิบายเหตุผลให้ลูกรับรู้และเข้าใจโดยเนื้อหาการพูด ให้พิจารณาตามช่วงวัยของเด็กว่าเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต
- ถ้าเป็นเด็กเล็กวัยก่อนวัยเรียน วัยอนุบาล ให้พ่อแม่พูดอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ว่า พ่อแม่อาจจะติดเชื้อโรคหวัด ต้องอยู่ห่างจากลูกและคนในครอบครัว 14 วัน ทุกคนในบ้านจะได้ปลอดภัย ไม่มีใครติดเชื้อจากพ่อแม่ได้
- ถ้าเป็นเด็กโต วัยเรียน วัยรุ่น พ่อแม่สามารถพูดอธิบายถึงเหตุผลของการทำ self-quarantine ได้มากกว่านี้และบอกด้วยว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม ถือเป็นตัวอย่างของการทำความดีต่อตัวเองและผู้อื่น
พ่อแม่ต้อง กักตัว 14 วัน แล้วใครจะเลี้ยงลูก
เน้นให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังไม่ได้ป่วยหนัก และการที่พ่อแม่กักตัวเองแบบนี้ จะทำให้ทุกคนลดโอกาสการติดเชื้อจากพ่อแม่ และเมื่อครบ 14 วัน ครอบครัวเราก็กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ในระหว่างนี้จะมีผู้ใหญ่ใกล้ชิด เช่น คุณน้าคุณอา หรือคนที่พ่อแม่ไว้ใจและมอบหมายให้อยู่ดูแลเด็กๆ แทนพ่อแม่ ระหว่างนี้ถ้าเราคิดถึงกันเราก็ติดต่อกันได้ทาง social media เรา Video call หากันได้เสมอ ส่วนคุณลุงคุณป้า คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย กลุ่มนี้อาจต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆ เพราะผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่อายุ 70 ปีขึ้นไป คือ กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากหากติดเชื้อขึ้นมา ก็แนะนำให้คุยกับผ่าน social media เช่นกัน
ท่าทีของพ่อแม่สำคัญมาก อย่าแสดงสีหน้าท่าทางกังวลหรือเศร้าหมองมากจนเกินไป ให้บอกตัวเองและลูกอย่างมั่นใจว่าการกักตัวเองแบบที่กำลังทำอยู่นี้เป็นการกระทำที่ดีและเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ในบางครั้งคนเราต้องอดทนอดกลั้นต่อความต้องการบางอย่าง ในที่นี้คือความต้องการของพ่อแม่ที่จะใกล้ชิดและดูแลลูก รวมถึงความต้องการของลูกที่จะเข้าหาพ่อแม่ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว
ดังนั้นทุกคนในครอบครัวต้องอดทนและทำใจให้เข้มแข็งเพื่อที่จะได้ผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน ในกรณีทั่วไปเด็กๆ จะสามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับการกักตัว 14 วัน ของพ่อแม่โดยที่มีผู้ใหญ่ใกล้ชิดคอยดูแลไปได้อย่างดีโดยที่ไม่มีปัญหาทางจิตใจหรืออารมณ์อะไร เพราะเป็นเพียงการแยกจากกันในระยะสั้นๆ เมื่อพ่อแม่กลับจากกการกักตัว ครอบครัวก็อยูด้วยกันอย่างปกติสุขเช่นเดิม
เมื่อไหร่ที่ควรปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์เด็ก
ในบางกรณี หากลูกของท่านมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำ เช่น แยกตัว ร้องไห้บ่อย กินอาหารน้อยลงมาก นอนหลับยาก หงุดหงิด งอแง อาละวาด จนผู้ใหญ่ใกล้ชิดรับมือไม่ไหว การปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการหรือจิตแพทย์เด็ก น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองหาสาเหตุ ว่ามีปัจจัยอะไรแทรกซ้อนเพิ่มเติม จึงทำให้เด็กเกิดปฏิกิริยามาก ต่อการ กักตัวอยู่บ้าน ของพ่อแม่ จะได้แนะนำให้ญาติหรือผู้ปกครองดูแลเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะในช่วงการระบาดนี้ที่ทุกคนในบ้านไม่สามารถออกไปไหนได้ การปรึกษาคุณหมอหรือนักจิตวิทยาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Samitivej Virtual Hospital ก็สามารถช่วยเป็นที่ปรึกษาและรักษาสภาพจิตใจของทุกครอบครัวในช่วงนี้ได้อย่างดีเลยทีเดียว