สัญญาณเตือน กระดูกสันหลังคดในเด็ก

สัญญาณเตือน กระดูกสันหลังคดในเด็ก

กระดูกสันหลังคดในเด็ก มักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 10 ขวบขึ้นไป กระดูกซี่โครงลูกปูด เกิดจากอะไร แล้วพ่อแม่จะสังเกตอาการกระดูกสันหลังคดของลูกได้อย่างไร

สัญญาณเตือน….ว่าลูกอาจมี กระดูกสันหลังคดในเด็ก

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ การคดงอของกระดูกสันหลัง หรือมีลักษณะบิดเบี้ยวไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุลและไม่สวยงาม ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10-15 ปี โดยทั่วไปหากอาการไม่รุนแรงมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากกระดูกสันหลังคดมาก อาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือรู้สึกเหนื่อยง่ายได้ มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

สาเหตุ กระดูกสันหลังคดในเด็ก

โรค กระดูกสันหลังคดในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 80 เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ จากการวิจัยพบว่าเด็กไทยมีกระดูกสันหลังคด ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คน แต่ระยะหลังพบเด็กเป็นโรคนี้มากขึ้น พันธุกรรมก็อาจเป็นสาเหตุทำให้หลังคดได้ เนื่องจากพบว่าบางครอบครัวมี พี่น้องหลังคด หรือฝาแฝดหลังคด บางครอบครัวมีลูกคนเดียว ก็อาจพบว่าเด็กเกิดมาหลังคดได้

สังเกตได้อย่างไรว่าเด็กๆ เป็นกระดูกสันหลังคด

คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจ กระดูกสันหลัง ของเด็กคร่าวๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยให้เด็กยืนตัวตรง แล้วดูแนวสันหลังว่าตรงหรือไม่ จากนั้นให้เด็กก้มหลังลง ให้มือทั้ง 2 ข้างแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คด ก็แสดงว่าปกติ

แต่ถ้ามีแนว กระดูกสันหลัง ไม่ตรง ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและติดตามผล ว่าอาจมีอาการมากขึ้นในระยะยาวต่อไปหรือไม่ในอนาคต การทดสอบนี้ทำได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2-3 ขวบ สำหรับเด็กอ่อนให้คุณหมอตรวจได้ตั้งแต่เกิด ทารกบางคนเกิดมาพร้อมความผิดปกติเลย คุณพ่อคุณแม่ลองมองๆ สังเกตหลังลูกบ้างก็ดี การตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่ามาตอนปลายเหตุที่เป็นมากแล้ว

ลักษณะของโรคกระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้

  • แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน สะบักที่หลังด้านใดด้านหนึ่งอาจนูนขึ้นมามากกว่าอีกด้านหนึ่ง
  • ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
  • สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้นสูงกว่าอีกด้าน
  • กระดูกซี่โครงมีความสูงไม่เท่ากัน หรือ กระดูกซี่โครงลูกปูด
  • สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากอีกด้าน เช่น มีรอยบุ๋ม, มีขนขึ้น, สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • สัดส่วนของเอวมีความผิดปกติโดยมีระดับไม่เท่ากัน

คงยังไม่สาย ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตสันหลังลูกบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กๆ หรือถ้าลูกโตเป็นวัยรุ่น ควรแนะนำให้ลูกเช็คความผิดปกติทั้งการยืน การทรงตัวของตัวเอง เมื่อพบความผิดปกติ ควรพามาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่มุมคดยังน้อยอยู่ ก็สามารถทำการรักษาให้หายเป็นปกติได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?