โปรแกรมการฟื้นฟูร่างกาย โดยการบำบัดด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 % แรงดันสูง
เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการให้หายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ในขณะที่ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ภายใต้สภาพความกดดันบรรยากาศสูงของเครื่องปรับความดันบรรยากาศ (Hyperbaric chamber) ที่มากกว่า 1 บรรยากาศ ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับการให้ออกซิเจนที่ความกดดันบรรยากาศปกติมากขึ้นหลายเท่า
ประโยชน์ของการบำบัดด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 % แรงดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy)
- เพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ละลายเข้าสู่กระแสเลือด โดยออกซิเจนในเลือดส่วนหนึ่งจะจับกับเม็ดเลือด อีกส่วนหนึ่งจะละลายอยู่ในน้ำเลือด การได้รับออกซิเจนในภาวะแรงดันบรรยากาศสูง จะช่วยให้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำเลือดมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งช่วยให้อวัยวะต่างๆได้รับออกซิเจนมากขึ้น
- ช่วยในกระบวนการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยผ่านกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระของออกซิเจน
- ลดการบวมของเนื้อเยื่อ โดยออกซิเจนภายใต้แรงดันบรรยากาศสูงจะช่วยให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งมีผลในการช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อ
- กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ การได้รับออกซิเจนภายใต้แรงดันบรรยากาศสูง จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างปัจจัยกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่เข้าสู่เนื้อเยื่อที่มีเลือดไปเลี้ยงน้อย เช่น บริเวณที่มีหลอดเลือดตีบตัน
- รักษาการเกิดฟองก๊าซอุดตันหลอดเลือดจากการดำน้ำ
- โรคหูดับเฉียบพลัน
- แผลเบาหวาน
- แผลเรื้อรัง
- แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- แผลติดเชื้อชั้นลึก หรือแผลติดเชื้อที่มีเนื้อตาย
- การบาดเจ็บของอวัยวะหลังการฉายแสง เช่น ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดหลังฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือบาดแผลเรื้อรังจากการฉายแสงบริเวณต่างๆของร่างกาย
- ภาวะซีดรุนแรง
- ภาวะฝีหนองในสมอง
- ภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
- เพิ่มอัตราการอยู่รอดของการปลูกถ่ายผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ
- เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนังและช่วยลดริ้วรอย
- ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ/การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- ช่วยให้เนื้อเยื่อยุบบวมหลังการผ่าตัด/การปลูกผม
- ช่วยลดอาการเหนื่อยล้าเรื้อรังและการนอนหลับ
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทในภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
- ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายในภาวะ Long Covid
ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา และความดันที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรค แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ในช่วง 60 - 90 นาที ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องเข้าเครื่องปรับความดันบรรยากาศเป็นจำนวนครั้ง (5 - 40 ครั้ง) แตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดของโรคเช่นกัน
ความปลอดภัย
การรักษาด้วยออกซิเจนในบรรยากาศสูง (Hyperbaric oxygen therapy หรือ HBOT) เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับ มีการให้การรักษาและพัฒนาอุปกรณ์มาเป็นระยะเวลามากกว่า 100 ปี เป็นการรักษาที่ถือว่าปลอดภัย เมื่อให้การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการรักษาทางการแพทย์อื่นๆ การใช้ HBOT ก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงได้ ผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้ ได้แก่ อาการปวดหูจากการเปลี่ยนแปลงแรงดันบรรยากาศ ความดันในช่องไซนัสเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้เกิดอาการปวดตามตำแหน่งช่องไซนัสต่างๆ ผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อย เช่น อาการชัก ลมรั่วในช่องปอด หรือพิษจากออกซิเจน เพื่อลดความเสี่ยงของอาการและผลข้างเคียงเหล่านี้ ผู้ป่วยควรผ่านการประเมินและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนรับการรักษา และควรได้รับการรักษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างมีคุณภาพ โดยรวมแล้ว การใช้ HBOT สามารถเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับโรคต่าง ๆ แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของบุคลากรที่มีความชำนาญการเตรียมตัวสำหรับการรักษาด้วยออกซิเจนแรงดันสูง
ก่อนที่จะได้รับการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric oxygen therapy หรือ HBOT) เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างปลอดภัยและประสบความสำเร็จ ผู้เข้ารับการรักษาจำเป็นจะต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้สั่งการรักษาเพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับการตรวจหู และถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด รวมถึงซักประวัติเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการให้การรักษาและโรคประจำตัว รวมทั้งยาบางชนิดที่อาจจำเป็นต้องใช้หรือต้องงดก่อนเข้ารับการรักษา และแพทย์จะทำการสั่งการรักษาที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนเข้ารับการรักษาแต่ละครั้ง ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดผ้าฝ้ายที่ทางศูนย์จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ห้ามนำสิ่งของและเครื่องประดับใดๆ เข้าไปในตู้ออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย ผู้ป่วยเบาหวาน อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนการเข้ารับการรักษาทุกครั้ง และเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เข้ารับการรักษาควรงดเว้น การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ 24 ชม. ก่อนและหลังเข้ารับการรักษาผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยออกซิเจนแรงดันสูง
- ผู้ที่มีภาวะลมรั่วในช่องอก(Pneumothorax)ที่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายรุนแรง
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีข้อห้าม เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาช่วยเลิกบุหรี่
- ผู้ป่วยที่มีไข้สูง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหากลัวที่แคบ
- ผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังคุมอาการได้ไม่ดี
- ผู้ป่วยตั้งครรภ์