ศูนย์โรคลมชักในเด็ก

ชั้น 2 ทุกวัน เวลา 07:00 - 20:00 น. + 66 (0) 2378-9110-1 info@samitivej.co.th

โรคลมชัก เป็นโรคทางสมองที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ประสาท ส่งผลให้มีการส่งกระแสประสาทที่ผิดปกติไปตามตำแหน่งต่างๆของสมอง ทำให้คนไข้มีอาการชัก เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยแรกเกิดไปจนถึง 18 ปี พบว่าอุบัติการณ์ของโรคลมชักในเด็ก 0.5-1%  

การวินิจฉัยโรคลมชักต้องอาศัยการซักประวัติอาการชักของเด็ก โดยประวัติการชักนั้นต้องไม่มีสิ่งกระตุ้นอาการติดต่อสองครั้ง และเกิดขึ้นห่างกันมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีประวัติอาการชักโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นเพียงครั้งเดียวร่วมกับมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนไข้มีโอกาสชักซ้ำมากกว่า 60% โดยปัจจัยดังกล่าวก็ เช่น เด็กมีพัฒนาการช้า ตรวจพบเนื้อสมองมีความผิดปกติ หรือ ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าสมองมีความผิดปกติ เป็นต้น โดยสาเหตุและอาการของโรคจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติของเนื้อสมองหรือหลอดเลือดในสมอง จากการติดเชื้อ ภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ หรือ การที่สมองเคยได้รับการบาดเจ็บหรือขาดออกซิเจน ดังนั้นเด็กที่เป็นลมชัก จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อหาสาเหตุที่แม่นยำ ทั้งนี้จะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทีมกุมารแพทย์โรคสมองที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคลมชักเป็นผู้ดูแล 

ทีมกุมารแพทย์ศูนย์โรคลมชักของโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ประกอบด้วย กุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ กุมารแพทย์โรคสมองและระบบประสาท กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคลมชัก กุมารแพทย์ด้านโภชนาการ นักพันธุศาสตร์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทในเด็ก กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมถึงทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง  ทำงานร่วมกันเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ได้รับการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

การตรวจและวินิจฉัย

การตรวจและวินิจฉัยของศูนย์โรคลมชักในเด็ก การตรวจโรคลมชักต้องอาศัยการตรวจที่ละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุให้ครอบคลุมในทุกอาการชักที่เกิด เพื่อวินิจฉัยให้การรักษาต่อที่ตรงจุดที่สุด ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ อาทิ

  • การถ่ายภาพสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) 
  • การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบพิเศษ Magnetic Resonance Spectroscopy (MRS) ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยวินิจฉัยภาวะผิดปกติทางด้านเคมีในสมอง 
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)  
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในระยะยาว Long-term EEG (มากกว่า24ชั่วโมง)

การรักษา

การรักษาโรคลมชัก ให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยเด็กแต่ละคน มีทั้งการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง และการรักษาแบบประคับประคอง รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพและกระตุ้นการพัฒนาการหลังการรักษา โดยทางเลือกการรักษาจะขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุ และการตอบสนองต่อการรักษาโดยกุมารแพทย์โรคสมองและระบบประสาท 

  • การรักษาด้วยการกินยากันชัก (antiseizure medication - ASM) 
  • Ketogenic Diet เป็นการรักษาทางเลือกในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยาด้วยวิธีการปรับอาหารให้เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้พลังงานของสมอง แต่อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดจากทั้งกุมารแพทย์ระบบประสาทและกุมารแพทย์ด้านโภชนาการ
  • การผ่าตัด เป็นการรักษาทางเลือกในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ผู้ป่วยควรต้องได้รับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์รวมทั้งการตรวจเพิ่มเติม  การผ่าตัดมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการชักและจุดกำเนิดการชัก ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลรายละเอียดทั้งจากคลื่นไฟฟ้าสมอง ภาพถ่ายสมอง รวมทั้งการตรวจเพิ่มเติมต่างๆเฉพาะบุคคล 
  • การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบ Vagus Nerve Stimulator (VNS) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยา โดยเครื่องมือนี้จะถูกฝังไว้ที่ผนังหน้าอกและส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อหยุดอาการชัก
    • หลังการรักษาด้วยการผ่าตัด ยังหอผู้ป่วยเด็กวิกฤติ Pediatric Intensive Care Unit
    • ซึ่งมีมาตรฐานรองรับในการดูแลผู้ป่วยเด็กได้ถึงวิกฤติในขั้นสูงสุด หรือเรียกว่า(PICU Level 3)

ความโดดเด่นในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคลมชักของโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช

โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีทีมสหสาขาจากศูนย์กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยในการฝึกกระตุ้นสมองและฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลด้วยโปรแกรมกายภาพ และกิจกรรมบำบัด เพื่อให้สมองและระบบประสาทกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของแต่ละบุคคลให้เร็วที่สุด  นอกจากนั้นโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชยังได้รับรางวัลชนะเลิศองค์กรดีเด่นแห่งปี ‘Best Hospital in Pediatrics and Best Physiotherapist’ Award จาก Middle East Healthcare ประจำปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 ตอกย้ำความเชื่อมั่นในการรักษาอีกด้วย


กุมารแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 

กุมารแพทย์โรคสมองและระบบประสาท และเชี่ยวชาญโรคลมชัก

ศัลยแพทย์โรคสมองเด็ก

กุมารแพทย์ด้านโภชนาการ