บริการการเคลื่อนย้ายทารกและเด็กภาวะวิกฤต

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ตลอด 24 ชม. 66 (0) 2022-2222 กด 1 info@samitivej.co.th

บริการการเคลื่อนย้ายทารกและเด็กภาวะวิกฤต

เราพร้อมช่วยเหลือในภาวะวิกฤต

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็ก Babies & Children Medical Transportation

เด็ก คือความสดใสและไร้เดียงสา ทำให้คนรอบข้างมีชีวิตชีวา คุณพ่อคุณแม่ทุกคนหวังจะให้ลูกเกิดมาด้วยความสมบูรณ์ แข็งแรง แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ต้องพบกับโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ และสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ เด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการเสียชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในปัจจุบันพบว่า มีเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดเมื่อมีอายุครรภ์ยังไม่ถึง 37 สัปดาห์ ปีละประมาณกว่า80,000 ราย ในจำนวนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดนี้ มีจำนวนกว่า 10,000 ราย ที่อาการหนัก ต้องอยู่ในไอซียูทารกแรกเกิด (NICU) เนื่องจากอวัยวะภายในยังทำงานไม่สมบูรณ์ ทั้งปอด ตับ หัวใจ การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ดี ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย

แต่สถานพยาบาลที่มีความพร้อมที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยทารกเหล่านี้ได้ ยังมีจำนวนน้อยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็ก เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ในการดูแลทารกและเด็กให้พ้นภาวะวิกฤต และสามารถเจริญเติบโต ยืนหยัดอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกนาที มีค่าต่อชีวิตของลูกน้อย

Babies and Children Medical transportation คือ บริการการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารก และเด็ก รวมถึงทารกที่อยู่ในภาวะวิกฤต บาดเจ็บและฉุกเฉิน ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมถึงการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยในต่างประเทศโดยพร้อมที่จะให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็กจากโรงพยาบาลต้นทางสู่โรงพยาบาลปลายทาง ตลอด 24 ชั่วโมง

เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ถ้าเป็นเด็กโตหน่อยคงพอที่จะบอกเราได้ว่าเจ็บหรือปวดตรงไหน แต่ทารกไม่สามารถบอกเราได้ มีเพียงการร้องไห้งอแงที่เปล่งเสียงออกมาเท่านั้น ที่จะเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับเค้า

อีกทั้งสรีระและอวัยวะน้อยๆ อันแสนจะบอบบาง จะหยิบจับอะไรก็ดูจะไม่ค่อยถนัดมือ ต้องอาศัยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นพิเศษ อุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีขนาดเล็ก เป็นไซส์ของเด็กโดยเฉพาะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็ก จึงจำเป็นต้องมีทีมแพทย์ในแต่ละด้านดูแลอย่างใกล้ชิด โดยแต่ละทีมมีความชำนาญแตกต่างกันออกไป ยิ่งเด็กเล็กเท่าไหร่ยิ่งต้องมีความชำนาญมากขึ้นเท่านั้น


หมอเด็ก 24 ชม. ทีมแพทย์สำหรับเด็ก ประกอบไปด้วย

  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็ก (อายุ 1 เดือนขึ้นไปถึง 15 ปี)
  • แพทย์กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์ต่างๆ เช่น แพทย์ฉุกเฉินแพทย์โรคหัวใจแพทย์เวชบำบัดวิกฤตพยาบาล

หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต (NICU) พยาบาลหอผู้ป่วยเด็กภาวะวิกฤต (PICU) พยาบาลแผนกฉุกเฉิน พร้อมเจ้าหน้าที่ทุกคนซึ่งเป็นทีมงานสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกแรกเกิดและเด็ก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยรูปแบบในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็ก สามารถทำได้ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ : Air Ambulance 

สามารถเดินทางได้ด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ คุณหมอบอกว่า เคยรับส่งผู้ป่วยไกลๆ ถึงอเมริกา และแคนาดานู่นแน่ะ หรือจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ อย่างลาว เวียดนาม จีน พม่า สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศนอกจากทีมแพทย์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องมีทีมแพทย์และพยาบาลทางด้านเวชศาสตร์การบิน (Flight Nurse) ซึ่งผ่านการอบรมด้านเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศคอยให้บริการและช่วยเหลือภายในเครื่องบินอีกด้วย อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือ ต้องเป็นชุดพิเศษสำหรับการเดินทางทางอากาศ

เพราะเมื่ออยู่บนเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ จะมีเสียงรบกวนซึ่งดังมาก ทำให้เครื่องมือปกติที่เราใช้กันในภาคพื้นดินไม่สามารถใช้งานได้ เช่น อุปกรณ์การฟังเสียงการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่เป็นแบบเฉพาะสำหรับบนเครื่องบิน คุณหมอจะไม่สามารถฟังการเต้นของหัวใจได้เลย

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางภาคพื้นดิน: Ground Ambulance โดยรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือ Speedy Bear 

รถที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อดูแลเด็กๆ ในทุกสถานการณ์  คุณหมอบอกว่า รถคันนี้ทำการตกแต่งด้วยลวดลายการ์ตูนหมอหมีและหมีพยาบาลน่ารัก สีสันสวยงามสดใสทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการเครียด  และจะช่วยให้เด็กๆ ไม่รู้สึกกลัว แถมยังมองเป็นเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่งของเค้า ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดความกดดันให้กับทุกฝ่ายได้อย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตามรถคันนี้ยังคงพร้อมด้วยอุปกรณ์ให้การช่วยเหลือเด็กอย่างครบครัน ทั้งสำหรับเด็กทารกแรกเกิด และเด็กทุกวัยภายในรถมีเครื่องช่วยหายใจระบบอัตโนมัติ อยู่ภายในตู้ที่ให้ความอบอุ่น โดยประกอบเป็น Set เดียวกันติดอยู่ภายในตู้พร้อมเสร็จ คุณหมอจึงไม่ต้องคอยบีบเครื่องช่วยหายใจ ทำให้สามารถสังเกตอาการ ประเมินสถานการณ์ ดูแลเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่และทำให้สามารถวางแผนช่วยเหลือเด็กในด้านอื่นๆ จนถึงปลายทางได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การจัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทารกและเด็กในแต่ละครั้ง จะพิจารณาจากความต้องการหรือความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายโดยเฉพาะ  รวมถึงการเลือกติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม ที่สุด

อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ใช้ระหว่างการเคลื่อนย้าย ได้แก่

  • เครื่องติดตามการเต้นของหัวใจและสัญญาณชีพ (ECG and multi parameter monitor)
  • เครื่องกระตุกหัวใจและเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Defibrillator)
  • เครื่องช่วยหายใจ (Neonatal and Pediatric transport ventilator)
  • เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ (Infusion and syringe pump)
  • เครื่องวัดค่าก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ( End tidal CO2 )
  • เครื่องวัดค่าก๊าซออกซิเจน (Oxygen saturation )
  • เครื่องดูดเสมหะ (Portable suction machine)
  • ยาและเวชภัณฑ์ พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับทารกและเด็ก (Neonatal and Pediatric advanced life support)
  • ตู้ให้ความร้อนกับเด็กทารกระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Transport Incubator)
  • อุปกรณ์เคลื่อนย้ายสำหรับทารกและเด็ก (Neonatal and Pediatric immobilization)