1.ใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วย ให้ไปต่อสู้และควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสตับบีด้วยยาฉีดเพ็ก ไกเลดเตดอินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon)
ยาตัวนี้มีฤทธิ์ไปกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ต่อสู้ควบคุมไวรัสบีเป็นหลัก แต่ก็มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบีบ้าง การรักษาด้วยยาฉีดนี้จะรักษานาน 48 สัปดาห์ สามารถได้ผลตอบสนองระยะยาว 6 เดือน หลังหยุดการรักษาประมาณร้อยละ33-40 หลังหยุดฉีดยาแล้วภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่ถูกกระตุ้นไว้ยังคงออกฤทธิ์ต่อสู้กับไวรัสต่อจึงสามารถมีการตอบสนองเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ14 หลังหยุดการรักษาไปแล้ว 1 ปี ผลตอบสนองจาการรักษาด้วยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอนมักอยู่นาน โอกาสการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่า
การรักษาด้วยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน จะมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น มีไข้, ปวดเมื่อยตามตัว, เพลีย, เบื่ออาหาร ผมร่วง แม้จะมีผลข้างเคียงมากแต่มากกว่าร้อยละ 85 ของผู้ป่วยสามารถทนผลข้างเคียงได้ และสามารถรับการรักษาจนครบ 48 สัปดาห์
2.ใช้ยาไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบีด้วยยากินต้านไวรัส
ปัจจุบันมียากิน 6 ชนิดในประเทศไทย ยากินต้านไวรัสบีจะมีฤทธิ์ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบี ทำให้ลดการอักเสบของตับและชะลอหรือลดโอกาสการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ยากลุ่มนี้จะรับประทานเพียงวันละครั้ง ผลข้างเคียงน้อยมาก ความสำคัญของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสบีคือ ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ขาดยาและมักต้องรักษาระยะยาว หลังหยุดยาจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไม่บ่อยกว่ายาฉีด ในการรักษาระยะยาวจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังการดื้อยาของไวรัสบี ซึ่งยาแต่ละตัวมีโอกาสดื้อยาต่างกัน บางตัวมีโอกาสดื้อยาบ่อย บางตัวโอกาสดื้อยาน้อยมาก
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสบีแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถหยุดยาเมื่อมีข้อบ่งชี้ตามแนวทางการรักษาปัจจุบัน ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาระยะยาวหรืออาจจะตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง