เพราะวิถีการใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบัน ทำให้เป็นโรคต่างๆได้แบบไม่รู้ตัว ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด รวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และในจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น กลับเป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักไม่มีอาการแสดงให้ทราบล่วงหน้า โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถควบคุมได้
1. เรื่องของอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไรก็มีโอกาสเกิดไขมันในผนังหลอดเลือดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับในผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป จึงทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น
2. พันธุกรรม หากใครมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ (หมายถึงครอบครัวสายตรง คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง) ก็จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีเพียงอาการเดียวที่เห็นเด่นชัด คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก เมื่อมีการออกแรง เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อมีอาการนี้แสดงออกมานั่นอาจหมายถึงหลอดเลือดหัวใจของคุณได้ตีบตันไปเสียแล้วก็ได้ หัวใจต้องการออกซิเจนเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลอดเลือดหัวใจ (Coronary arteries) คือเส้นทางในการนำโลหิตที่เต็มไปด้วยออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยปกติแล้วผนังภายในหลอดเลือดหัวใจจะมีลักษณะเรียบ แต่หากมีการสะสมของไขมันหรือตะกอนอื่นๆ เมื่อมากๆ เข้า ก็จะทำให้หลอดเลือดตีบ ขัดขวางการไหลของเลือด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น อาการเจ็บที่หัวใจอย่างรุนแรง หรือหัวใจวายได้
หากเปรียบเทียบหลอดเลือดคือเส้นทางการจราจร หลอดเลือดที่ปกติ คือ ถนนที่มี 8 เลน ไขมันที่สะสมคือสิ่งกีดขวาง จากถนนที่มี 8 เลน วิ่งๆ ไปจู่ๆ ก็มีสิ่งกีดขวางทำให้ถนนเหลือแค่ 2 เลน รถก็ติดเคลื่อนตัวไปได้ช้า รถเปรียบเสมือนเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อจุดหมายปลายทาง หากมีสิ่งกีดขวาง ก็ทำให้ออกซิเจนไปสู่จุดหมายปลายทางได้ช้า ยิ่งชั่วโมงเร่งด่วน รถยิ่งติดมาก หากรถยังคงติดอยู่บนถนน แต่ ปลายทางหรือหัวใจต้องการความช่วยเหลือ ต้องการออกซิเจนอยู่ แต่ต้นทางส่งไปไม่ได้ ไปไม่ทันเวลา กล้ามเนื้อหัวใจก็ขาดออกซิเจน ทำให้เกิดความเจ็บปวด จึงแสดงออกมาที่ร่างกาย คือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกนั่นเอง
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักไม่ค่อยมีอาการแสดงเตือนให้เห็น สิ่งที่ควรทำคือตรวจร่างกายเป็นประจำ หากพบความเสี่ยงจะได้ส่งต่อเพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ทันท่วงที เริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจกราฟหัวใจ เอกซเรย์ปอด หากไม่พบอาการเสี่ยง คุณหมอก็จะแนะนำให้ไปปรับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle modification) เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงยาวนานยิ่งขึ้น แต่หากมีอาการก็ต้องมาตรวจหัวใจเพิ่มเติม โดยการวิ่งสายพาน อัลตร้าซาวน์ และหากยังอยู่ในเกณฑ์ที่สงสัยว่าจะมีหลอดเลือดหัวใจตีบ คุณหมอจะทำการสวนสีหัวใจเพื่อหารอยโรค
การสวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ตัน บ้างหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงเพียงใด ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่างๆ ของหัวใจได้ด้วย สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การสวนหัวใจผ่านทางขาหนีบ (Femoral Artery) และสวนหัวใจผ่านทางข้อมือ (Radial Artery) โดยแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความชำนาญและความถนัดของแพทย์
เมื่อทำการสวนสีหัวใจดูแล้ว หากพบว่าหลอดเลือดตีบหรือตันตรงไหน ก็จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด การทำบอลลูนก็เหมือนกับการทำความสะอาดถนน ขจัดสิ่งกีดขวางออกไป จากถนนที่มีสิ่งกีดขวางเหลือ 2 เลนแคบๆ ก็ขยายเป็น 4 เลน 8 เลนได้เหมือนเดิม การทำบอลลูน คือ การใส่ขดลวดเพื่อถ่างหรือดันไขมันสะสมที่มาขวางทางเดินของหลอดเลือดอยู่ ทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันโล่งขึ้น เลือดสามารถไหลผ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น
ในสมัยก่อนเมื่อใส่ขดลวดเข้าไประยะหนึ่ง เมื่อหลอดเลือดขยายตัวกลับคงสภาพเดิมแล้ว ก็จะทำการนำขดลวดออก แต่ปัญหาคือเมื่อนำขดลวดออกแล้วทำให้หลอดเลือดหดตัวกลับไปตีบเหมือนเดิม จึงได้มีการพัฒนาตัวขดหลวดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถใส่ไว้ในหลอดเลือดได้โดยไม่ต้องเอาออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ กลับเกิดพังผืดไปเกาะบริเวณรอบๆ ขดลวดทำให้หลอดเลือดกลับไปตีบตันอีก หรือตีบตันมากขึ้น จึงมีการพัฒนาขดลวดไปอีกระดับโดยการเคลือบยาป้องกันไม่ให้มีพังผืดมาเกาะ ทำให้หลอดเลือดคงสภาพได้ดีเหมือนเดิม โอกาสกลับมาตีบตันน้อย
ในการรักษาโรคต่างๆ เป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้ผู้ป่วยกลับมาสู่สภาพปกติมากที่สุด ให้ร่างกายกลับไปเป็นเหมือนเดิมมากที่สุด ไม่อยากให้มีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ล่าสุดจึงมีการพัฒนาขดลวดที่สามารถย่อยสลายได้เอง แต่ตัวขดลวดจะมีความอ่อนกว่าปกติ หากเจอผนังหลอดเลือดที่หนาๆ ก็จะไม่สามารถใส่ขดลวดนี้ได้ ขดลวดแบบย่อยสลายได้เอง จึงเหมาะกับรอยโรคที่ไม่แข็งตัวมาก และความยาวของการตีบตันไม่มาก ซึ่งจะสลายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลอดเลือดก็จะกลับมาสู่สภาพปกติเหมือนเดิม
ถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ จะมีการพัฒนากันอย่างไม่หยุดยั้ง ช่วยให้สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ง่ายและดียิ่งขึ้น แต่หากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเอง ทานตามใจฉัน จัดไขมันเข้าร่างกันเหมือนเดิม ต่อให้เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน หลอดเลือดหัวใจก็มีโอกาสกลับไปตีบตันได้เหมือนเดิม
“ไม่ใช่เฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเท่านั้น แต่กับโรคต่างๆ ก็เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น โรคความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด ฯลฯ ล้วนมาจากการใช้ชีวิตอย่างประมาททั้งสิ้น กิน ดื่ม เที่ยว นี่มีเวลา แต่การออกกำลังกายกลับอ้างว่าไม่มีเวลา กินเข้าไปแต่ไม่ได้นำออกมา โรคต่างๆ จะถามหากันได้ง่ายๆ อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ งดหวาน มัน เค็ม ใครที่น้ำหนักเกิน ก็ควรลดน้ำหนัก ยิ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยแล้ว ถึงแม้จะใส่บอลลูน ขยายหลอดเลือดให้กลับไปเป็นปกติแล้วก็ตาม แต่หากใช้ชีวิตแบบเดิมก็อาจกลับมาตีบตันได้ การใส่บอลลูนในหลอดเลือดหัวใจก็เหมือนกับการซ่อมรถ ซ่อมแล้วก็ต้องหมั่นบำรุงรักษา ไม่เช่นนั้นมันก็จะกลับไปพังเหมือนเดิมนะครับ”
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่