เป้าหมายหลักของการรักษาโรคสะเก็ดเงิน คือ ควบคุมโรคให้สงบ โดยให้มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งในแง่ของความรุนแรง การดำเนินของโรค ปัจจัยกระตุ้นโรค สภาวะจิตใจของผู้ป่วย อาชีพ อายุ เพศ
การรักษาด้วยยาทา โดยให้คนไข้ทายาที่มีสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง การทายากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบที่ผิวหนัง นอกจากนี้ก็มียาอื่นที่ใช้ทาสลับกันเพื่อลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เช่น ยาทากลุ่มน้ำมันดิน ยาทากลุ่มวิตามินดี ยาทาอื่น ๆ เช่น Salicylic acid
การรักษาด้วยการฉายแสง (Phototherapy) และเลเซอร์ อาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือแบบผสมผสานก็ได้ โดยการฉายแสงที่นิยมมีหลายชนิด เช่น UVB, UBA ร่วมกับยาโซราเลน ส่วนเลเซอร์ที่ใช้คือ Excimer laser
Excimer laser เป็นเลเซอร์ที่ใช้แสง UVB ความยาวคลื่น 308 นาโนเมตร ในการรักษาผื่นสะเก็ดเงิน ควรได้รับการรักษา 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะมีการตอบสนองหลังการรักษาไปแล้วประมาณ 6-8 ครั้ง ข้อดีของการใช้ Excimer laser คือสามารถฉายแสงรักษาได้แบบเฉพาะเจาะจงโดยไม่ทำให้ผิวปกติรอบๆผื่นมีอันตราย และเนื่องจากใช้ความเข้มของแสงที่สูง จึงเห็นผลการรักษาไวกว่าการรักษาแบบเดิม (Narrowband UVB) สามารถรักษาในต่ำแหน่งที่ยากต่อการรรักษา เช่น ข้อศอก เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหนังศีรษะได้
การฉายแสงแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่กี่นาที จะมีความรู้สึกอุ่นๆ บริเวณที่ฉายแสง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น มีแสบ แดง คัน ตุ่มน้ำพอง (blistering) ผิวหนังมีสีหม่องคล้ำ (purpura) รอยดำ (hyperpigmentation) รอยขาว (hypopigmentation) หรือแผลเป็นได้ (Scaring)
ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีผื่นขนาดใหญ่หนึ่งทั่วร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการใช้ Excimer laser ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลูปัส โรคหนังแข็ง (Scleroderma) โรคที่ผิวหนังไวต่อแสง (Photosensitivity) ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังหลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งผิงหนัง และผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ทำให้ไวต่อแสง การรักษาด้วย Excimer laser ค่อนข้างปลอยภัยและต้องทำต่อเนื่องงหลายครั้ง ถ้ารักษาผื่นหายหมดแล้วก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำได้ ไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้
การรักษาด้วยยารับประทานและยาฉีด วิธีการรักษานี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมาก หรือมีผื่นขึ้นเยอะมากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวทั้งหมด แพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบนี้ อาจจะให้ยารับประทานอย่างเดียวหรือใช้การฉีดยาร่วมด้วย สำหรับยาที่ใช้ฉีด เป็นยากลุ่มชีวโมเลกุลที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษาอาการของ โรคสะเก็ดเงิน โดยตรง มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ยาฉีดชนิดใหม่นี้ก็จะมีจุดเด่นตรงที่ว่าได้ผลดีและเห็นผลรวดเร็ว มีผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างน้อย แต่ค่าใช้จ่ายค่อยข้างสูง และไม่สามารถใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรค ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และวัณโรค
สุดท้ายคุณหมอฝากถึงผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินทุกคนว่าควรดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไขมันสูง ของทอด หลีกเลี่ยงจากความเครียด การอดนอน งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ หากรับประทานยาหรือฉีดยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรใช้ยาตามตำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเมื่อเจ็บป่วย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีปฏิกิริยาต่อกัน ควรให้ผื่นสะเก็ดเงินโดนแดดบ้าง โดยเฉพาะแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้า อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ไม่แกะ ไม่เกาบริเวณผื่น ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพื่อลดอาการผิวแห้ง ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อลดการระคายเคืองผิว
ส่วนผู้คนรอบข้างผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้ดี โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ หากผู้ป่วยและคนรอบข้างมีความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจะสามารถควบคุมโรคได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น