เวียนหัว บ้านหมุน จากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

เวียนหัว บ้านหมุน จากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

HIGHLIGHTS:

  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้
  • อาการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
  • นอกเหนือจากอาการเวียนหัวแล้ว ยังมีอาการอื่นๆด้วยเช่น หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆ หายๆ มีเสียงดังในหู
  • น้ำในหูไม่เท่ากันอาจทำให้ประสาทหูเสื่อม ถ้าทิ้งไว้ระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อย ๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้

เวียนหัว บ้านหมุน จากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ
หูชั้นในของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวอยู่ โดยปกติจะมีน้ำในหูชั้นใน ในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน มีการไหลเวียนและถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหู ขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะเกิดการกระตุ้นเซลล์ประสาท ทำให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติ (endolymphatic hydrops) จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน ทำให้เซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการ

  1. ประสาทหูเสื่อม ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยิน ชนิดประสาทการได้ยินเสียเฉียบผลัน (sensorineural hearing loss) ทำให้หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆ หายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งแย่ลง
    ในระยะแรกเริ่มมักมีการเสียของประสาทหูที่ความถี่ต่ำก่อน แต่ในระยะยาวแล้วระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อย ๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้ ในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว ในระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้งสองข้าง มีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็นด้วยได้
  2. มีเสียงดังในหู (Tinnitus)
  3. อาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุน บางครั้งอาจมี คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะดังกล่าวมักเป็น ๆ หาย ๆ อาจมีอาการนานเป็นชั่วโมงได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่เกินครึ่งชั่วโมง เมื่อเวียนศีรษะ มักมีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงดังในหูร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพัก

โรคนี้พบได้ทุกช่วงวัยแต่จะพบมากในคนอายุ 30-60 ปี พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมากอาการมักจะเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี ในประเทศไทยข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคนี้ยังมีน้อย โรคนี้มักเป็นในหูข้างเดียว แต่อาจเป็นทั้งสองหูได้ร้อยละ30 อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการทุกวัน หรือนาน ๆ ครั้งก็ได้ ซึ่งไม่สามารถจะบอกได้ว่าจะเกิดอีกเมื่อไร แต่ละครั้งอาการ อาจมีอาการเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นนาที หรือมีอาการเป็นระยะเวลานานเป็นชั่วโมงได้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการน้อยหรือมากได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือท้องเสียร่วมด้วยได้

การวินิจฉัย

ทำได้โดยการซักประวัติ อาการที่สำคัญ 3 อาการดังกล่าว การตรวจระบบประสาทการทรงตัว การตรวจการได้ยิน การตรวจรังสีวินิจฉัย รวมทั้งการเจาะเลือด และตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัย แยกจากโรคอื่น ๆ

การรักษา

  1. การให้ยาบรรเทาอาการ
    • การรับประทานยาขับปัสสาวะ อาจจะทำให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นหลังได้รับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
    • การรับประทานยาขยายหลอดเลือด(ฮิสตะมีน)จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น
  2. การผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน จะทำเมื่อให้ยารักษาเต็มที่แล้วอาการของโรคโดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก
    • การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยิน และการทรงตัวในหูชั้นใน (labyrinthectomy) จะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นด้วย มักจะทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะมากอยู่
    • การตัดเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน(vestibular neurectomy) มักจะทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
    • การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น gentamycin ซึ่งเป็นยาต้านจุลชีพกลุ่ม aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินอาจเสียไปด้วย

ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่อาการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?