โรคหัวใจ ชนิดคาวาซากิ

โรคหัวใจ ชนิดคาวาซากิ

HIGHLIGHTS:

  • โรคคาวาซากิ มักเกิดในทารกและเด็กเล็ก หากได้รับการรักษาช้า อาจส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • โรคคาวาซากิ ส่วนใหญ่พบในเด็กชาวเอเชียที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ยังไม่ข้อยืนยันว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่พบว่าในครอบครัวที่มีผู้ป่วยคาวาซากิเสี่ยงการติดเชื้อได้มากกว่า
  • โรคคาวาซากิไม่สามารถป้องกันได้ แต่รักษาได้หากพบแพทย์ภายใน 10 วันหลังจากเริ่มอาการ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงหัวใจ

โรคหัวใจในเด็กอาจพบและเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางรายคลอดแล้วตรวจพบทันที หรือคลอดแล้วกลับบ้านไปเป็นเวลานานเพิ่งตรวจพบก็เป็นได้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคหัวใจแต่ละชนิด ซึ่งมีทั้งแบบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และแบบที่เกิดขึ้นภายหลัง หนึ่งในโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง มีชื่อแปลก และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักคือ โรคหัวใจ ชนิดคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ คืออะไร

โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) ตั้งชื่อตามนายแพทย์ชาวญี่ปุ่น โทมิซากุ คาวาซากิ (Dr. Tomisaku Kawasaki) ผู้ค้นพบในเด็กอายุเฉลี่ย 2-3 ปี โดยเด็กที่ป่วยมักมีไข้สูง มือหรือเท้าบวม ตาแดง และมีผื่นแดงที่ผิวหนัง รวมถึงปากแห้งแดง และมีตุ่มขึ้นที่ลิ้นคล้ายกับผลสตรอว์เบอร์รี่ หากได้รับการรักษาช้า อาจส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่มีหลายปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรค ได้แก่

  • พันธุกรรม แม้ยังไม่ข้อยืนยันว่าสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่ก็พบว่าในครอบครัวที่มีผู้ป่วยคาวาซากิเสี่ยงการติดเชื้อได้มากกว่า
  • เชื้อชาติและอายุ ส่วนใหญ่พบในเด็กชาวเอเชียที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี
  • ติดเชื้อ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเชื้อโรคหรือแบคทีเรียบางชนิด จนทำให้เกิดการอักเสบต่อหลอดเลือด
  • ยาและสารเคมี เด็กที่ได้ผลกระทบจากการใช้ยาและสารเคมีบางชนิด ส่งผลให้มีปัจจัยเสี่ยงโรคมากขึ้น

อาการ โรคคาวาซากิ

อาการของโรคในระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะไข้เฉียบพลัน (Acute Phase) มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและค่อนข้างรุนแรง ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 โดยมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลงแม้จะได้รับยาแล้วก็ตาม เด็กบางรายมีไข้นานถึง 3-4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ
    o ผื่นแดงคันตามตัวหรือบริเวณขาหนีบ
    o ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าบวม หรือมีผิวหนังลอกร่วมด้วย
    o ตาทั้งสองข้างบวมแดง โดยไม่มีขี้ตา
    o ปากและภายในลำคอแห้ง แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue)
    o สามารถคลำต่อมน้ำเหลืองโตได้ที่บริเวณลำคอ อาจพบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
    o ตรวจพบหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว หรือหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ
  • ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Phase) ช่วงของไข้สูงเริ่มลดลง ในสัปดาห์ที่ 2-4 แต่ผิวบริเวณมือและเท้าจะเริ่ม ลอกและปวดตามข้อ ถือเป็นระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น หลอดเลือดแดงของหัวใจโป่งพอง (Coronary Aneurysm) ซึ่งค่อนข้างพบได้น้อย แต่มีความเสี่ยงถึงชีวิตได้
  • ระยะพักฟื้น (Convalescent Phase) ทารกที่ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 เป็นช่วงที่ยังคงต้องระวังภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากร่างกายอ่อนแอ

การวินิจฉัยโรคหัวใจ ชนิดคาวาซากิ

หากผู้ป่วยเด็กเล็กมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป ร่วมกับอาการอย่างน้อย 4 ใน 5 ของอาการต่อไปนี้

  • ผื่นแดงคันตามตัวหรือบริเวณขาหนีบ
  • ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าบวม หรือมีผิวหนังลอกร่วมด้วย
  • ตาทั้งสองข้างบวมแดง โดยไม่มีขี้ตา
  • ปากและภายในลำคอแห้ง แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue)
  • สามารถคลำต่อมน้ำเหลืองโตได้ที่บริเวณลำคอ อาจพบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

ทั้งนี้แพทย์อาจมีการตรวจวินิยฉัยผลกระทบของ โรคคาวาซากิ ที่มีต่อหัวใจเพิ่ม

  • ตรวจความผิดปกติของหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) หรือการทำเอคโค เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจโป่งพอง และการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การตรวจเลือด (Blood Tests) เพื่อดูการอักเสบของร่างกาย จากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น เซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง รวมถึงตรวจปริมาณโปรตีนไข่ขาว (Albumin) ในเลือดว่าต่ำหรือไม่
  • ตรวจการทำงานของตับที่อาจมีเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น
  • การเอกซเรย์ (X-Ray) บริเวณหน้าอก ตรวจสัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษา

แม้โรคคาวาซากิจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่รักษาได้หากพบแพทย์ภายใน 10 วันหลังจากเริ่มอาการ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงหัวใจ โดยการใช้ยาที่ได้รับยอมรับ คือ อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ทางหลอดเลือดดำ เพื่อยับยั้งการอักเสบ สามารถให้ซ้ำได้หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน และยาแอสไพริน ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการอุดตันของเกล็ดเลือด

เด็กป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมและถูกวิธีโดยแพทย์ผู้ชำนาญสามารถหายเป็นปกติได้ รวมถึงได้รับการดูแลหลังการรักษา และรับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?