คงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากต้องงดทำสิ่งที่รักเนื่องจากอาการบาดเจ็บ บ่อยครั้งที่มักได้ยินข่าวว่านักกีฬาได้รับบาดเจ็บ จนไม่สามารถลงแข่งได้ โดยเฉพาะกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล ซึ่งนักเตะระดับโลกหลายคนก็เคยเจอกับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า จนต้องเข้ารับการรักษาหรือได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL)
เอ็นไขว้หน้า คือ เส้นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า วางตัวอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบิดหมุนตัวซึ่งต้องใช้เอ็นไขว้หน้าในการควบคุม เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อกไม่ให้ข้อเข่าทรุด หรือไม่ให้มีอาการไม่มั่นคงในข้อเข่า
หากเอ็นไขว้หน้าขาด หลังการบาดเจ็บจะมีอาการบวม ภายใน 1-2 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะอาการบวมอย่างรวดเร็วเกิดจากเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกในข้อ หรืออาจมีกระดูกแตกร่วมด้วย แต่ในกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บแล้วไม่ได้บวมเร็วมาก มักเป็นการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อทั่วไป หยุดพักการใช้งานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็หายได้ แต่ถ้าเป็นนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด ทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย โดยหากเอ็นไขว้หน้าขาดเส้นเดียว แต่สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ลดการใช้เข่าลง อาจสามารถรักษาโดยการรับประทานยาและกายภาพบำบัดได้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่าในการหมุนมาก ๆ ได้ อย่างนักกีฬา อาชีพที่ต้องใช้ร่างกาย เช่น ตำรวจ ทหาร หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในระหว่างการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน เกิดมีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนในข้อเข่าเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะการบาดเจ็บกับหมอนรองกระดูกข้อเข่าแตก หรือผิวข้อแตกร่วมด้วย ซึ่งจะนำมาสู่การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้แก้ไขภาวะต่าง ๆ ของข้อเข่าให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด
ทางเลือกสำหรับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าด้วยการส่องกล้องเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะแผลเล็ก เจ็บน้อย และยังสามารถมองเห็นพยาธิสภาพอื่นๆ ภายในข้อเข่าได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิด สามารถทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้หากส่องกล้องแล้วพบว่าเส้นเอ็นฉีกขาดเพียงบางส่วน ยังสามารถเก็บส่วนที่ดีไว้ ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ทั้งเส้นก็ได้ คือสร้างเฉพาะส่วนของเอ็นไขว้หน้า (ACL Augmentation) ซึ่งช่วยให้ได้เอ็นไขว้หน้าที่สมบูรณ์ใกล้เคียงสภาพเดิมมากขึ้น
ทั้งนี้การผ่าตัดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ข้อเข่ากลับมาสู่ภาวะปกติได้ในระดับที่ผู้ป่วยคาดหวังไว้ ต้องอาศัยการฝึกข้อเข่าหลังการผ่าตัดโดยความร่วมมือของคนไข้เป็นสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาบาดเจ็บซ้ำ
การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสนุกสนาน แต่ควรใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากได้รับการบาดเจ็บแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการแนะนำและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถใช้งานเข่าจนถึงหลังได้ แล้วยังลามไปสู่การเกิดปัญหาข้อเสื่อมได้เช่นกัน
*โปรดระบุ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่