โรคอ้วน ทำให้เด็กเสี่ยงความดันโลหิตสูง

โรคอ้วน ทำให้เด็กเสี่ยงความดันโลหิตสูง

HIGHLIGHTS:

  • เด็กอ้วน หรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มีความเสี่ยงเป็นภาวะ ความดันโลหิตสูง มากกว่าเด็กปกติ ถึง 6 เท่า
  • ความดันโลหิตสูงในเด็ก วัยรุ่น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง และภาวะไตวายเรื้อรัง ก่อนวัยอันควร 
  • แนวทางการรักษา ความดันโลหิตสูงในเด็ก มีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ร่วมกับการออกกำลังกายให้เหมาะสมและควบคุมอาหาร

ความดันโลหิตสูงในเด็กถือเป็นภาวะที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะปัจจุบันพบ เด็กอ้วน หรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีภาวะความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 10.6 เท่า เทียบกับเด็กปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วความดันโลหิตสูงในเด็ก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับความสนใจและพ่อแม่ยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้

รายงานเกี่ยวกับ เด็กอ้วน ที่น่าสนใจ

  • ปี 2012 กรมอนามัยของไทยมีรายงานตัวเลข ดังนี้
    • เด็กก่อนวัยเรียนที่อ้วนน้ำหนักเกินมีตัวเลข 2%
    • ส่วนเด็กในวัยเรียนที่อ้วนน้ำหนักเกินพบ 17%
  • ปี 2014 การศึกษาของคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ในวารสารระดับนานาชาติ BMC Public Health พบว่า
    • เด็กไทยมีภาวะอ้วน 9%
      เป็นเด็กผู้ชาย 30.6% เด็กหญิง 12.8% และพบว่าความดันโลหิตสูงเกือบ 4%
      อุบัติการณ์ของเด็กอ้วนจากการศึกษานี้เทียบเท่ากลุ่มเด็กโซนยุโรปและอเมริกา และสูงกว่าอุบัติการณ์ของกลุ่มประเทศอาเชี่ยน ซึ่งอยู่ที่ราวๆ  10 % เท่านั้น
    • เด็กอ้วนมีความเสี่ยงเป็นภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าเด็กปกติ ถึง 6 เท่า
  • ปี 2015-2016 เด็กอ้วนลดลง 2% แต่ตัวเลขยังน่ากังวล

ความสัมพันธ์ของ เด็กอ้วน กับ ความดันโลหิตสูง

จากสถิติทั่วโลกที่ทำการศึกษาโดย Eric L. Cheung ได้ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Pediatrics ปี 2017 พบว่า ในโซนทวีปอเมริกา ยุโรป กลุ่มอเมริกาใต้ และกลุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินผิดปกติโดยรวมถึง 39-43% โดยเป็นเด็กอ้วน 21-23% ในขณะที่เด็กเอเชียเป็นเด็กอ้วนประมาณ 10%

ความดันโลหิตของช่วงวัยเด็กและปัจจัยที่มีผล

  • อายุ ความดันโลหิตแปรผันและจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และจะมีค่าเทียบเท่าผู้ใหญ่เมื่อเด็กมีอายุ 13 ปี
  • เพศ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนร่วมด้วย โดยเด็กผู้ชายจะมีค่าความดันโลหิตที่สูงกว่าเด็กผู้หญิง
  • ความสูง เด็กที่มีส่วนสูงมากกว่าในช่วงอายุเดียวกันก็จะมีแนวโน้มความดันโลหิตที่สูงกว่า
  • กิจกรรมทางกายและภาวะเครียดทางด้านจิตใจ ปัจจัยนี้จะมีผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้ชั่วคราว

ความดันโลหิตสูงใน เด็กอ้วน เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีการศึกษาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงจากภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยของภาวะดื้ออินซูลิน ฮอร์โมนจากไขมัน เช่น เลปติน กลุ่มสารอนุมูลอิสระ และที่น่าสนใจอีกตัวคือ ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับเกลือแร่และความดันโลหิตของร่างกาย จากการศึกษาของอาจารย์ Wakako Kawarazaki ที่ตีพิมพ์เมื่อ 2016 พบว่า ในภาวะอ้วนการรับรู้ต่อกลไกการขับและปรับระดับเกลือโซเดียมที่ไตในคนอ้วนผิดปกติ และมีผลทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงผิดปกติ รวมถึงความดันในไตก็จะสูงกว่าปกติด้วย

ความเสี่ยง เมื่อเด็กมีภาวะ ความดันโลหิตสูง

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดหัวใจผิดปกติ เส้นเลือดเสื่อมเร็วขึ้นเหมือนกับผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า เส้นเลือดแก่ตัวเร็วขึ้น ทำให้มีแนวโน้มความเสี่ยงของภาวะฉุกเฉินต่างๆ ทั้งหัวใจ เส้นเลือดสมอง หรือแม้แต่ความเสี่ยงของภาวะไตวายเรื้อรัง
  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลให้สมองเกิดการขาดเลือดได้ มักมีอาการชาในบริเวณแขนขา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เป็นอัมพาต ก่อนวัยอันควร
  • การตรวจคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูงในเด็ก สามารถสะท้อนโรคแฝงอื่นๆในครอบครัว อันอาจเป็นการกระตุ้นการสืบค้นและเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคแฝงอื่นของสมาชิกในครอบครัวแต่เนิ่นๆ

โรคและอาการที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในเด็กอ้วน

  • สาเหตุจากโรคไต 34%
  • สาเหตุจากโรคทางเดินหายใจ 20%
  • สาเหตุจากโรคทางระบบประสาท 13%
  • สาหตุจากการใช้ยา 13%
  • ความผิดปกติจากการหายใจและขณะนอนหลับ 8%
  • โรคต่อมไร้ท่อ 6%
  • โรคหัวใจ 3%

กลุ่มเด็กที่ต้องตรวจคัดกรองความดันโลหิต

  1. เด็กกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 3 ขวบ ที่มีประวัติหรือมีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ถือว่ามีความเสี่ยง
  • เด็กคลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์
    • ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติมาก
    • ทารกที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือทารกในห้อง ICU
    • ทารกที่ได้รับการใส่สายสวนเส้นเลือดแดงทางสะดือ
    • เด็กที่มีประวัติโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจล้มเหลว
    • ผู้ป่วยเด็กที่มีความดันในสมองสูง
    • กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
    • ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง
    • กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เคยได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
    • ผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติโรคไต อาทิ
      • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำ
      • ปัสสาวะมีเลือดปน มีโปรตีนหรือไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ
      • มีโรคไตอื่นๆ หรือมีโครงสร้างไตที่ผิดปกติ
      • มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคไต
    • ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาที่มีผลต่อความดันโลหิต
    • เด็กมีโรคประจำตัวที่สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่
      • โรคท้าวแสนปม
      • โรคเนื้องอกในสมอง และอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ไต หัวใจ ปอด และผิวหนัง
      • โรคเลือด
  1. เด็กกลุ่มที่อายุมากกว่า 3 ขวบที่ควรตรวจวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาพบแพทย์หรือโรงพยาบาล
  • เด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติและภาวะอ้วน
  • เด็กที่ได้รับยาที่มีผลต่อความดันโลหิต เช่น ยาลดคัดจมูก decongestants ยากลุ่มคาเฟอีน ยาต้านการอักเสบ NSAID
    ยาทางเลือกเช่น ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมทางโภชนาการ ยาที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วย ADHD (stimulants เช่น Ritalin, Concerta) ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ คลายเครียดกลุ่ม TCA และสารเสพติด
  • เด็กที่เป็นโรคไต
  • เด็กที่มีประวัติเป็นโรคเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ
  • เด็กที่เป็นเบาหวาน

การดูแลรักษาความดันโลหิตสูงในเด็กอ้วน

แนวทางการรักษามีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ร่วมทั้งหาสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ร่วมกับซักประวัติครอบครัวเพิ่มเติม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแนะนำในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกคน

โดยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ออกกำลังกายให้เหมาะสม ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3-5  ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 30-60 นาที สำหรับเด็กอาจเลือกเป็นการออกกำลังกายที่ตนเองชอบ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงและการเคลื่อนไหวมากๆ
  • ควบคุมอาหาร เด็กมักชอบการรับประทานอาหารระหว่างมื้อ รวมทั้งขนมหวาน น้ำหวาน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กอ้วน ควรควบคุมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทั้ง 3 มื้อ และควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม อาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมสูง  ประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล แนะนำเพิ่มการทานอาหารกากใยสูง เมล็ดพันธ์พืชร่วมกับผักผลไม้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการพิจารณาใช้ยาร่วมด้วย ส่วนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวของเบาหวานและโรคไตเรื้อรัง จะได้รับการพิจารณายาควบคุมความดันโลหิตตั่งแต่ต้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?