เตรียมหัวใจให้พร้อม ก่อนการเล่นกีฬา

เตรียมหัวใจให้พร้อม ก่อนการเล่นกีฬา

การออกกำลังกาย โดยรวมแล้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่แน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดที่เป็นขาวด้านเดียว หรือดำด้านเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะเล่นกีฬาชนิดใดอย่างหนัก จึงควรทำการศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่อการออกกำลังกายชนิดนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน

ซึ่งในรายละเอียดของกีฬาแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน เช่น การวิ่งมาราธอน อาจมีผลต่อข้อเข่า หรือภาวะ Heat Stroke ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬากลางแจ้งในสภาพร่างกายที่ขาดน้ำร่วมกับอุณหภูมิที่สูงมากของสภาพแวดล้อม แต่พื้นฐานโดยรวมของการออกกำลังกายนั้น คงไม่พ้น เรื่องผลกระทบต่อหัวใจ เพราะไม่ว่ากีฬาชนิดใดล้วนต้องอาศัยหัวใจช่วย Pump เลือดไปเลี้ยงทั้งสิ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายที่เน้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย แบบ Aerobic ที่เน้นการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ทำซ้ำให้มีความเร็วเพียงพอนั้นจะมีประโยชน์ต่อหัวใจมากกว่า และเป็นการฝึกฝนหัวใจโดยตรง เพราะการออกกำลังกายเช่นนี้จะทำให้หลอดเลือด ส่วนปลายขยายตัว ความต้านทานในระบบหลอดเลือดจึงลดลง ถึงแม้ว่าหัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้นแต่ภาระงานที่หัวใจต้องรับกลับไม่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือดส่วนปลายจึงทำให้เลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ง่ายขึ้น

ในขณะที่การออกกำลังกายแบบยกน้ำหนักนั้นเน้นแบบที่บีบคั้นให้เกิดการเผาผลาญแบบไม่ง้อ Oxygen และทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ผลของการออกกำลังกายแบบนี้อย่างหนักจะเป็นการเพิ่มภาระของหัวใจจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น เลือดถูกบีบออกไปเลี้ยงร่างกายได้ยากขึ้น ผลก็คือหัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อเอาชนะความต้านทานตอนปลาย ในบางรายที่ฝึกฝนมากๆ กล้ามเนื้อจะสวยงาม แต่อาจทำให้มีความดันสูงและกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวได้

การเล่นเทนนิส ถือเป็นการออกกำลังแบบ Aerobic ดังนั้นจึงเป็นผลดีต่อหัวใจถึงแม้ว่าการเล่นกีฬาแบบ Aerobic อย่างหนัก เช่นนักกีฬาทีมชาติจะพบว่าบางรายห้องหัวใจและผนังหัวใจอาจโตและหนาขึ้นได้เล็กน้อย แต่เมื่อศึกษาดูในรายละเอียดของการหดตัว และคลายตัวจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะผิดกับกรณีการยกน้ำหนัก ที่มักมีการคลายตัวช้ากว่าเกณฑ์ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายแบบ Aerobic นั้นใช่ว่าจะไม่มีโทษต่อหัวใจเลย ผมเชื่อว่าสิ่งที่หลายคนกลัวกันมากและเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ขณะออกกำลังกายแบบ Aerobic ก็คือการตายแบบฉับพลันนั่นเอง (Sudden Cardiac Death) ซึ่งจะเห็นว่าในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ส่วนมากเป็นกีฬาแบบ Aerobic ทั้งสิ้น เช่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอล เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการออกกำลังกาย แบบ Aerobic จะทำให้เสียชีวิตมากกว่ายกน้ำหนัก หากสังเกตดูจะเห็นว่าที่เสีย ชีวิตกันนั้นล้วนแต่เป็น Aerobic Exercise แบบที่ต้องมีการแข็งขันแทบทั้งสิ้น ผมจึงข้อย้ำว่าที่มีการเสียชีวิตนั้นไม่ใช่ผลโดยตรงของระบบ Aerobic แต่เป็นผลโดยตรงของการแข่งขันมากกว่า เพราะเมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น ผู้เล่นกีฬามักมุ่งเอาชนะจนลืมขีดจำกัดของตนเอง ในขณะที่การยกน้ำหนัก ผู้ปฎิบัติมักทราบขีดจำกัดของตนเอง และหยุดก่อนเกิดอันตรายเสมอ อย่างไรก็ตามการออกกำลังกาย Aerobic แบบ Competitive Sports ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะอัตราการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวต่ำมากในประชากรทั่วไป (< 0.1%) โดยเฉพาะหากมีการตรวจสุขภาพหัวใจพื้นฐานก่อนทำการฝึกฝนแบบจริงจัง

โดยทั่วไปการเสียชีวิตกะทันหันในขณะออกกำลังกายนั้นสาเหตุจะถูกแบ่งออกตามกลุ่มอายุ คือ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า35 ปี สาเหตุหลักมักเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องการเหนี่ยวนำไฟฟ้าผิดปกติบางชนิด เช่น กลุ่ม Long QT มักพบในเพศหญิงกลุ่มที่อายุตั้งแต่ 35 ปี สาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เริ่มจะเป็นสาเหตุหลักโดยเฉพาะกลุ่มที่มีเบาหวานร่วมด้วยนั้นจะน่ากลัวมาก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมาก่อน

ดังนั้นหากต้องการฝึกฝนอย่างเต็มที่ด้วยความมั่นใจ การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มฝึกฝนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นเป็น เบาหวาน , มีประวัติ Sudden Death ในครอบครัว, มีประวัติเป็นลม ซึ่งการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ก็ไม่ได้ยุ่งยากมาก เพียงตรวจคัดกรองด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และ/หรือ การวิ่งสายพานแบบควบคู่ไปกับการทำ Exercise Stress Echocardiogram โดยจะมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลไปแล้วแต่ความเหมาะสมและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

“อาการโรคหัวใจไม่ได้มีการแสดงออกหรือเตือนล่วงหน้าทุกครั้งไป การเตรียมพร้อมสุขภาพหัวใจให้พร้อมอยู่เสมอ นับเป็นการเพิ่มความมั่นใจและรู้ศักยภาพของตนเองในทุกเกมการกีฬา“

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?