หลายครั้งที่เราอาจเคยได้ยินข่าวว่า มีผู้ชมภาพยนต์เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายกระทันหันในหนังฆาตกรรมหรือหนังผี หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตบนเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุก
ปัจจุบันเราพบว่า อุตสาหกรรมผลิตภาพยนต์เหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้น และทุกเดือนจะมีหนังเหล่านี้อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมจะมีมากเป็นพิเศษเนื่องจากมีวันฮาโลวีน (31 ตุลาคม) นั่นเอง
คำว่า Jump Scare คือ เทคนิคที่ผู้สร้างหนังหรือเกมส์มักจะใส่เข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมหนังผี หนังฆาตกรรม หรือหนังลึกลับต่างๆ โดยมักจะทำให้ผู้ชมตกใจกลัวโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้เดาทางออก ซึ่งเวลาที่คนเราตกใจกลัวมากๆ ร่างกายเข้าสู่ Fight or Flight Response หรือแบบจำลองของ สภาวะพร้อมสู้หรือพร้อมวิ่งหนี
ปกติแล้วความกลัวนั้น ถูกสร้างมาจากสมองส่วน Amygdala หรือที่ใครมักเรียกว่า “ เจ้าเมล็ดถั่วขี้กลัว ” ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ที่ฝังอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง (medial temporal lobe) ในหัวของเรา ซึ่งอยู่ในกลุ่มสมองของส่วนที่เรียกว่า “ เครื่องผลิตอารมณ์ ” (Limbic system) นั่นเอง สมองส่วนนี้มักจะเก็บบันทึกความทรงจำในอดีตมาประกอบกับอารมณ์และความรู้สึกของเรา พร้อมปรับสภาวะ ส่งผลให้การแสดงออกต่อความกลัวของแต่ละคนแตกต่างกัน
เมื่อใดก็ตาม เรากำลังเผชิญกับสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน สมองส่วนนี้จะเริ่มประมวลผล เปรียบเทียบ ขบคิด ส่งผลให้เรารู้สึกไม่ไว้ใจ กังวลและหวาดกลัว และเมื่อสมองได้ข้อสรุปแล้วว่า สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้านั้นน่ากลัว “ เจ้าเมล็ดถั่วขี้กลัว ” จะส่งข้อมูลตรงไปที่ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) ที่เชื่อมต่อกับไขสันหลัง แล้วกระตุ้นต่อมหมวกไต (Adrenal glands) ให้ปล่อยฮอร์โมนที่ชื่อว่า “เอพิเนฟฟริน ” (Epinephrine) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่ออะดรีนาลีน (Adrenaline) และ นอร์เอพิเนฟฟริน ” (Norepinephrine) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) เข้าสู่กระแสเลือดของเรา ส่งผลให้ร่างกายของเรามีอาการตอบสนองต่างๆ เช่น ความดันสูงขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น ทำให้หายใจเร็วขึ้น เลือดจากหัวใจถูกสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว เหงื่อออก ตื่นเต้น และนอกจากนั้นยังทำให้ ต่อมหมวกไตทำงานหนัก เพื่อผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ทำให้ร่างกายและระบบต่างๆ ถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ให้ความเห็นว่า ภาพยนต์ที่มีฉาก Jump Scare อาจไม่ได้ทำให้ผู้รับชมหัวใจวายได้ แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีโรคหวาดระแวงและมีพฤติกรรมฝังใจที่เลวร้ายในอดีต หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ไม่แนะนำให้รับชมภาพยนต์เหล่านี้ หรือไปเล่นกิจกรรมและเครื่องเล่นที่หวาดเสียว เพราะอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
นอกจากผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเหล่านี้แล้ว ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ก็ไม่แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ไปดู เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงกับสิ่งสมมติได้ การพบภาพที่น่ากลัวอาจจะทำให้เด็กมีภาพติดตาและฝังใจไปจนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเริ่มใช้เหตุผลต่างๆ มาหักล้างความกลัวเหล่านั้น ซึ่งโดยรวมแล้วอาจไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กเอง
สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี สามารถรับชมหนังเหล่านี้ได้ตามปกติ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติขณะรับชม เช่น หัวใจเต้นเร็วจนมีอาการหน้ามืด วูบ ปวดร้าวไปที่หน้าอก หรือแขน สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพหัวใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เราได้มั่นใจว่า หัวใจเรายังแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ