หวาน…อย่างไรให้สุขภาพดี

หวาน…อย่างไรให้สุขภาพดี

HIGHLIGHTS:

  • ทานหวานสาเหตุอาจจะมาจากกรรมพันธุ์
  • ทานหวานเกินไปทำให้มีปัญหาต่อเส้นเลือดในหลอดเลือดหัวใจ สมอง ไต หรือตา รวมถึงความดันโลหิตสูง
  • สำหรับผู้ที่ทานหวาน แต่ไม่อยากอ้วน ควรเลือกทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index) อาหารในกลุ่มที่มีไฟเบอร์สูง มีการขัดสีน้อย

หวานอย่างไรให้สุขภาพดี

น้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นให้ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพิ่มปริมาณสูงขึ้น ซึ่งมีผลให้การสะสมของไขมันมากขึ้น เป็นเหตุให้น้ำหนักตัวขึ้นได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อไม่กระชับอีกด้วย

หลายคนที่ติดรสหวานเป็นชีวิตจิตใจ อาจรู้สึกท้อว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องอดหวานและยังสามารถลดน้ำหนักได้

ทำไมต้อง…หวาน

การรับประทานหวานหรือติดหวาน ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้มีความเครียดและนอนดึก สังเกตว่าเมื่อมีความเครียดหรือนอนดึก ร่างกายมักโหยหาอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวาน เนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ส่งผลให้รู้สึกอยากรับประทานของหวานหรือของที่มีไขมันสูงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งหากเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ร่างกายก็จะมีการจัดการหรือปรับเปลี่ยนได้ แต่กลุ่มที่มีความเครียดแบบเรื้อรัง หรือนอนดึกอย่างต่อเนื่อง เมื่อพักผ่อนน้อยอาจทำให้ฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายขาดสมดุล ทำให้รู้สึกรับประทานเท่าไรก็ไม่อิ่ม ต้องเป็นอาหารหวานๆ เท่านั้น จึงจะทำให้ร่างกายรู้สึกดี มีพลังงาน เมื่อรับประทานมากขึ้นก็ทำให้อ้วนขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่บางกรณีมีการติดหวานโดยกรรมพันธุ์ (Gene) ซึ่งมีวิธีการตรวจสุขภาพระดับยีน (Gene tests) พบว่าบางคนมียีนที่ติดความหวานอยู่แล้ว ชอบรับประทานหวานโดยธรรมชาติ นอกจากนี้การเลี้ยงดูของครอบครัวยังเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คนติดหวาน เช่น ที่บ้านรับประทานอาหารรสชาติหวานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ส่งผลให้กลายเป็นคนติดรสหวานได้

ไม่เลิกน้ำตาล ระวังเบาหวานมาเยือน

การรับประทานอาหารรสหวาน เกี่ยวข้องโดยตรงกับฮอร์โมนอินซูลิน ในช่วงแรกที่ปริมาณอินซูลินขึ้นสูงทำให้เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นอาการของเบาหวานในระยะแรก เมื่อระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสูง จะส่งผลให้มีปัญหาต่อเส้นเลือดในหลอดเลือดหัวใจ สมอง ไต หรือตา นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง รวมถึงความเสื่อมของร่างกายในแต่ละส่วน เช่น ตาเสื่อม หรือมีอาการเหนื่อยง่าย ผู้ป่วยเบาหวานบางคนยังมีความผิดปกติตรงบริเวณเส้นประสาทตรงส่วนปลายมือปลายเท้า ทำให้รับความรู้สึกได้ไม่ดีเท่าคนปกติทั่วไป

หวานแบบไหนไม่ต้องกลัวอ้วน

หากไม่อยากมีน้ำหนักส่วนเกิน แต่ยังอยากรับประทานรสหวานอยู่ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index) เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดจะมีความหวานที่แตกต่างกัน อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงจะยิ่งเป็นตัวการไปกระตุ้นอินซูลินทำให้อ้วนขึ้นได้ง่าย ซึ่งอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จะเป็นอาหารในกลุ่มที่มีไฟเบอร์สูง มีการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ติดมัน เช่น เนื้อติดมัน เพราะไขมันที่ได้จากสัตว์มักเป็นไขมันอิ่มตัว ทำให้เกิดการสะสมตามอวัยวะภายในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อาหารประเภททอด ผัด หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูง เพราะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เซลล์เกิดการอักเสบ และทำให้กระบวนการเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี

ปัจจุบันมีสารให้ความหวานที่สามารถทดแทนน้ำตาลอยู่หลายชนิด แต่ก็มีสารให้ความหวานบางชนิดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น แอสปาร์แตม (Aspartame) ซึ่งเป็นสารให้ความหวาน ที่แพทย์ไม่อยากแนะนำให้รับประทาน

การคุมอาหารเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจัดการกับความเครียดและเข้านอนไม่ดึกมากเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน รวมถึงการออกกำลังกาย การดูแลการขับถ่าย และรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้สมดุล ก็จะสามารถจัดการปัญหาน้ำหนักส่วนเกินได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?