โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน…กันไว้ดีกว่าแก้

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน…กันไว้ดีกว่าแก้

วันหัวใจโลก หรือ World Heart Day ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งในแต่ละปีพบว่าอัตราการตายที่เกิดจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงควรมาทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ สืบเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีต โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่เคร่งเครียดกับการทำงาน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย สูบบุหรี่ รับประทานอาหารจานด่วน หรืออาหารประเภทไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับยาตลอดชีวิต ถ้าเป็นมากต้องได้รับการขยายหลอดเลือดแดงโดยใช้บอลลูนหรือในคนไข้บางรายต้องได้รับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด ดังนั้น การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นายแพทย์นาวี ตันจรารักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ได้อธิบายถึงสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน วิธีตรวจคัดกรอง วิธีรักษา และการป้องกันเพื่อให้ห่างไกลจากโรค

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดจากการมีไขมันและหินปูนไปพอกอยู่ภายในหลอดเลือดแดง จนเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือดเกิดการปริแตกขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตันแบ่งออกเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น อาหาร น้ำหนักตัว การสูบบุหรี่ โรคประจำตัว (เบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง) และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ (อายุ เพศ และเชื้อชาติ)

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มี 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถ้าไม่รีบมาพบแพทย์ คนไข้อาจมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก เป็นถี่ขึ้น รุนแรงมากขึ้นแม้ขณะไม่ได้ออกกำลัง อาจมีอาการใจสั่นเหงื่อออกหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงว่านานเท่าไหร่ ดังนั้น จึงต้องรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหรืออย่างช้าภายในเวลา 6-12 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรก เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดที่ตีบโดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดหรือโดยวิธีการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด

ส่วนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันชนิดเรื้อรัง เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะมีอาการแน่นบริเวณกึ่งกลางอกแบบเป็นๆ หายๆ อาจมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้ายขึ้นไปถึงกราม ซึ่งอาการเหล่านี้มักสัมพันธ์กับการใช้พละกำลัง เช่น การเดินเร็ว การออกกำลังกาย หรือการขึ้นบันไดก็จะทำให้เกิดอาการแน่นบริเวณทรวงอกได้ แต่พอได้นั่งพักอาการก็จะหายไป

ดังนั้น เมื่อเกิดอาการเหล่านี้จะต้องรีบมาพบแพทย์ การรักษาหลักคือการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตและการรับประทานยา ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้วต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการพอกตัวของไขมันเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ในกรณีที่มีอาการมาก และ/หรือเส้นเลือดตีบมากทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง คนไข้ต้องได้รับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ส่วนในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง มักใช้วิธีการผ่าตัดทำบายพาส โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ

สำหรับบุคคลที่แพทย์สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์อาจต้องทำการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Calcium Score CT ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยแพทย์สามารถนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละรายได้ เพื่อให้การรักษาแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจได้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการแก้ไข การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น การออกกำลังกายประเภทแอโรบิค อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ ควรลดบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น อาหารประเภททอด และอาหารประเภทเนื้อแดง ควรใช้น้ำมันรำข้าวในการประกอบอาหาร ควรรับประทานอาหารประเภทปลา หรือเนื้อไก่ไม่ติดหนัง และอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง รวมถึงผักและผลไม้ ส่วนพฤติกรรมที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดคือ การสูบบุหรี่ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาโอกาสตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้คุณก็จะห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

*ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

Photo Credit: fhisa via Flickr cc

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?