ผลข้างเคียงของยา เช่น ในกลุ่มยาที่มีส่วนผสมของนํ้ามัน ถ้าเป็นเด็กที่กินยายาก หากเกิดการสำลักทำให้น้ำมันเข้าไปในปอด อาจเกิดอาการปอดอักเสบซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ แทนที่จะรักษาแค่อาการท้องผูกซึ่งยากอยู่แล้วกลับต้องมารักษาเรื่องปอดอักเสบเสียอีกด้วย ดั้งนั้นจึงห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุตํ่ากว่า 3 ขวบ หรือยาในกลุ่มมิลค์ออฟแมกนีเซีย หากใช้มากเกินไป ไตขับถ่ายไม่ทันจนเกิดการสะสมแมกนีเซียมในร่างกาย หรือยาแลคตูโลสที่หวานทำให้เด็กกินอร่อย กินง่าย แต่ถ้าหากกินต่อเนื่องนาน 2-3 อาทิตย์ ก็จะทำให้เกิดลมท้องอืด เพราะยากลุ่มนี้ถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ให้กลายเป็นสารที่ดึงนํ้าเข้ามาละลายอุจจาระ เกิดเป็นแก๊สไฮโดรเจนจำนวนมาก และขับถ่ายอุจจาระเหลวออกมา
การใช้ยาสวนหรือยาระบายเป็นการแก้ไขปัญหาและการรักษาที่ปลายเหตุ อยากให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตและฝึกพฤติกรรมการขับถ่ายที่ถูกวิธีเพื่อให้ลูกน้อยมีสุขอนามัยที่ดีโดย
1. คลำท้องบริเวณด้านซ้ายเหนือกระดูกเชิงกราน ว่ามีอุจจาระค้างในลำไส้หรือไม่หากคลำได้เป็นก้อนลักษณะกลมหรือแท่ง เคลื่อนได้ตามมือเรา ถ้าพบลักษณะแบบนี้แปลว่าเด็กเกิดการอั้นสะสมมานาน จนทำให้อุจจาระมาค้างอยู่ตรงลำไส้ส่วนบนได้ จะต้องช่วยทำให้เด็กขับถ่ายให้เกลี้ยง
2. สังเกตดูก้นของลูกว่ามีแผลหรือติ่งอะไรไหมเด็กเจ็บก้นหรือเปล่า ถ้ามีแผลต้องใช้ยาทาก้นยาฆ่าเชื้อ สำหรับเด็กหรือใช้วาสลีนทาก้น เพื่อช่วยให้เด็กขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
3. ฝึกให้ลูกเข้าห้องนํ้า นั่งในท่าที่ถูกต้อง คือ เท้าเหยียบเต็มพื้น ก้นแตะบนชักโครกที่มีขนาดพอดีกับขนาดก้นของเด็ก ระดับเข่าสูงกว่าสะโพก ให้นั่งเอนมาข้างหน้าเล็กน้อย การนั่งลักษณะแบบนี้จะเป็นท่าที่ทำให้ลำไส้ตั้งตรงกับรูทวาร ทำให้อุจจาระไหลลงมาได้ดี ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลสมิติเวชจะมีห้องนํ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อฝึกการขับถ่ายแต่ถ้าเป็นที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ควรซื้อฝารองชักโครกสำหรับเด็ก และถ้าหากเท้าลอย ก็จะต้องหาเก้าอี้มารองเพื่อให้เท้าเหยียบเต็มพื้น ไม่แกว่งไปแกว่งมา เวลาที่เหมาะจะฝึกให้ลูกเข้าห้องนํ้าคือหลังมื้ออาหารเช้าประมาณ 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง เพราะเมื่อเราทานข้าวเข้าไปจะมีรีเฟลกซ์ไปที่ลำไส้ทำให้อยากถ่าย และในช่วงเช้าเป็นช่วงจังหวะที่ลำไส้บิดตัวแรงทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
4. อย่ากดดันเด็กจนเกินไป เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเด็กกลัวห้องนํ้า (ToiletPhobia) คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามฝึก แต่ต้องไม่คาดคั้นว่าลูกจะต้องนั่งชักโครกให้ได้ ต้องอึให้ได้เดี๋ยวนี้วันนี้ เราต้องช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ลองฝึกลองนั่งหลังอาหารทุกมื้อ ครั้งนี้ยังอึไม่ออกแต่แค่ผายลมก็ยังดี การฝึกเด็กไม่ใช่จะทำได้ภายในแค่วันสองวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-3 เดือน บางครั้งถึง 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและใจเย็นๆ นะคะ
5. ช่วยให้อุจจาระของนิ่มขึ้นได้โดย
– ดื่มนํ้าส้ม นํ้าลูกพรุน
– ดื่มนํ้าในปริมาณที่เพียงพอ
– ทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มกากใย
– ดูปริมาณนมที่เด็กดื่มว่าเพียงพอหรือไม่ในเด็ก 1 ขวบขึ้นไป ที่ทานข้าวด้วยครบ 3 มื้อ ควรดื่มนม 24-30 ออนซ์ต่อวัน หรือประมาณ 8 ออนซ์ต่อมื้อ
– เลือกนมที่มีการเสริมใยอาหารชนิดพิเศษที่เรียกว่า พรีไบโอติกและโพรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายเพื่อให้อุจจาระนิ่ม เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อนมให้ลูกก็อย่าลืมดูที่มีการเสริมพรีไบโอติก ด้วยนะคะ และกินโยเกิร์ตเสริม