ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ?

ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ?

ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  1. ชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีแต่มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่
    • ประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
    • ประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
    • ประวัติโรคมะเร็งหลายชนิดร่วมกันในครอบครัว

ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมเป็นรายๆไป

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงทางประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณการว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 142,950 ราย ต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 52,857 รายในแต่ละปี

ส่วนในยุโรป จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุอันดับที่สองรองจากมะเร็งเต้านมในเพศหญิงและมะเร็งต่อมลูกหมากกับมะเร็งปอดในเพศชาย โดยมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ถึงปีละ 450,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากถึงปีละ 232,000 รายทั่วยุโรป สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยเอง แม้ว่าจะมีอุบัติการณ์ไม่สูงเท่ากับประเทศในยุโรปหรืออเมริกา แต่ก็พบประมาณการผู้ป่วยใหม่มากกว่า 65,000 รายต่อปี หรือประมาณ 25 รายในประชากร 100,000 ราย ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และยังเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันต้นๆอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคมะเร็งทุกชนิดนั้น หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะต้นผลของการรักษาจึงจะดี ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีคำแนะนำให้มีการ “ตรวจคัดกรอง” (screening) เพื่อหาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาหากตรวจพบโรค รวมถึงการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเพื่อการป้องกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีคำแนะนำให้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีทุกรายได้รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการต่างๆและพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้อย่างชัดเจน

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประมาณร้อยละ70 ของโรคมะเร็งลำไส้เกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ที่โตขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหาติ่งเนื้อดังกล่าวและตัดออกไปก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้

การศึกษาของประเทศไทยเองพบว่าโอกาสตรวจพบติ่งเนื้อในประชากรที่มารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ30 โดยมากขึ้นตามอายุ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มีรายงานไว้ได้แก่ ผู้มีประวัติติ่งเนื้อในลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว (โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำ เป็นต้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?