มะเร็งรังไข่มฤตยูเงียบที่ต้องใส่ใจ

มะเร็งรังไข่มฤตยูเงียบที่ต้องใส่ใจ

ต้องยอมรับว่าการเกิดเป็นลูกผู้หญิงชีวิตช่างยากเย็นเสียนี่กระไร นอกจากจะต้องเกิดมาพร้อมกับความลำบากทางกายภาพที่ผู้ชายไม่เข้าใจแล้ว โรคภัยที่เป็นโรคเฉพาะของผู้หญิงก็มีมากอีกด้วย นอกจากโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกที่เป็นโรคที่พบมากแล้ว คุณสาว ๆ ก็ควรต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งรังไข่ด้วยเพราะนี่เป็นอีกหนึ่งโรคที่ถือเป็นมฤตยูเงียบที่แอบคร่าชีวิตผู้หญิงไปไม่น้อย วันนี้เราจึงจะมาเรียนรู้เรื่องมะเร็งรังไข่มฤตยูเงียบตัวนี้กัน ซึ่งวันนี้เราได้รับความกรุณาจากนายแพทย์โซ่สกุล บุณยะวิโรจ สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดผ่านกล้องทางนรี¬เวช และโรคมะเร็งนรีเวชมาช่วยให้ความรู้ดีๆ กับเราในครั้งนี้ คุณหมอจะมีอะไรมาฝากเราบ้างไปติดตามกันได้เลย

ก่อนที่จะไปเจาะลึกเรื่อง มะเร็งรังไข่ คุณหมอแนะนำว่า ควรจะต้องทำความรู้จักกับรังไข่อวัยวะสำคัญของคุณผู้หญิงทุกคนกันก่อน รังไข่ คือ อวัยวะสืบพันธุ์อย่างหนึ่งของผู้หญิง จะอยู่ข้างปีกมดลูกทั้งสองข้าง โดยรังไข่จะทำหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ การผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทำให้ผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงร่างกายเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ส่วนหน้าที่หลักอย่างที่สองก็คือ การผลิตไข่ ซึ่งรอเวลาที่จะผสมกับน้ำเชื้อของผู้ชายจนกลายเป็นตัวอ่อน เอาล่ะเราก็ได้รู้จักกับรังไข่กันแล้ว ทีนี้เขยิบไปที่มะเร็งรังไข่กันดีกว่า มะเร็งรังไข่มีหลายชนิดมาก ในตัวรังไข่เองจะสามารถโตได้ พอโตขึ้นมามากกว่าปกติก็จะกลายเป็นเนื้องอกของรังไข่ ซึ่งในเนื้องอกของรังไข่จะมีทั้งเนื้องอกธรรมดากับเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง เนื้องอกชนิดร้ายที่เป็นมะเร็งจะทำให้เกิดปัญหามากมายในตัวผู้หญิง อีกทั้งยังมีชนิดที่เป็นมะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ มะเร็งฟองไข่ มะเร็งเนื้อรังไข่ ซึ่งทั้งหมดล้วนจัดว่าเป็น มะเร็งรังไข่ทั้งสิ้น ซึ่งโรคนี้เกิดในคุณสุภาพสตรีได้ในทุกอายุ ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน อายุ 70 – 80 ปีก็ยังพบว่าว่าเป็นมะเร็งรังไข่ได้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่

คุณหมอได้กล่าวกับเราว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์อย่างแน่ชัดได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยกันอยู่ แต่ส่วนใหญ่จากที่พบจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนสาเหตุจากกรรมพันธุ์นั้นก็พอมีส่วนอยู่บ้างเหมือนกัน คือครอบครัวใดที่เคยมีประวัติการรักษามะเร็งของเต้านมหรือมะเร็งลำไส้ ก็อาจจะมีการถ่ายทอดพันธุกรรมมายังลูกและก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้เหมือนกัน ส่วนสภาวะแวดล้อมรอบข้างเป็นตัวกระตุ้นก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็เกิดได้น้อย

อาการสำหรับมะเร็งรังไข่

คุณหมอบอกว่า มะเร็งรังไข่มักไม่แสดงอาการในระยะแรก เพราะก้อนมะเร็งอาจจะยังเล็ก ส่วนถ้าก้อนเริ่มโตคนไข้ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดแบบหน่วงพอทนได้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น แน่นท้อง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ มาบ้างไม่มาบ้าง ส่วนวิธีการรักษามะเร็งรังไข่ คุณหมอบอกว่า หลักๆ ก็คือ การผ่าตัดรังไข่ออก ซึ่งปัจจุบันก็จะใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบ MIS คือเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กและเจ็บน้อย แต่ถึงอย่างไรการผ่าตัดก็ยังไม่ใช่วิธีการรักษาที่เพียงพอ บางครั้งก็ต้องใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยกับมะเร็งบางชนิดหรือบางระยะ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้เคมีบำบัดย่อมส่งผลข้างเคียง ซึ่งมีอาการได้หลายอย่างทั้ง เบื่ออาหาร ระคายเคืองทางเดินอาหาร ปากเป็นแผล ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ชาปลายมือปลายเท้า เสียการทรงตัว และอาจมีอาการ อื่นๆ ร่วมได้อีก ซึ่งความร้ายกาจของมะเร็งรังไข่นั้นแม้จะผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัดจนหายแล้วก็ตามก็ยังมีโอกาสที่จะหวนกลับมาเป็นอีกได้ แต่จากการที่ได้พูดคุยกับคุณหมอทำให้เราทราบว่าปัญหาในการรักษามะเร็งรังไข่ หลักๆ เลยก็คือ มะเร็งรังไข่มักไม่ค่อยแสดงอาการชัดเจน การตรวจพบมะเร็งรังไข่ ก็จะเป็นช่วงระยะที่มีการกระจาย จึงทำให้การรักษาทำได้ยาก

สุดท้ายคุณหมอกล่าวกับเราด้วยความเป็นห่วงสุขภาพของสาวๆทุกคนว่า มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่ตรวจพบได้ยาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณผู้หญิงทุกคนจะต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง หมั่นตรวจเช็คร่างกายโดยการตรวจประจำปี และเมื่อถ้าหากตรวจพบมะเร็งรังไข่ กำลังใจต้องเข้มแข็ง ต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับโรคและยอมรับการรักษา แน่นอนว่าการให้เคมีบำบัดย่อมส่งผลต่อร่างกายในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราตัดสินใจยอมรับและกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ และถ้าคุณผ่านไปได้ ปัญหาทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?