มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

ทั่วโลก ทุก 2 นาที จะมีสตรี 1 คนเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก

สำหรับประเทศไทยจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกพบได้เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 30-60 ปี มีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณ 14 คน/วัน หรือประมาณ 5,200 คนต่อปี จากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)

อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

  • การมีเลือดออกทางช่องคลอด
  • การมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น ตกขาว
  • อาการปวดท้องน้อย
  • อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วถือว่ามีความเสี่ยงทุกคนแต่จะอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงมากขึ้น ถ้ามีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ ติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็ง รวมทั้งการไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

HPV (Human Papilloma Virus) คืออะไร

HPV เป็นไวรัสที่ส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนน้อยติดต่อทางการสัมผัส มักพบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสตรีบริเวณปากมดลูก ช่องคลอดและอวัยวะเพศ
เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีเพียง 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะ สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึง 80% ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 35 เท่า
เชื้อ HPV ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือใช้ถุงยางอนามัย จากสถิติพบว่าผู้หญิง 4 ใน 5 คน จะติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูก ตั้งแต่เริ่มต้น ได้รับไวรัส HPV จนเกิดมะเร็งปากมดลูกจะใช้เวลานานโดยเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน

การตรวจ HPV DNA ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก

ทำไมจึงต้องตรวจหาไวรัส HPV

มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าไวรัส HPV เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในเกือบทุกราย จากรายงานการศึกษาวิจัยทั่วโลกพบว่า HPV DNA TESTING ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจทางด้านชีวโมเลกุลมีความไวในการตรวจมากกว่า 90% ทำให้สามารถตรวจพบไวรัสที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก ซึ่งจะช่วยค้นหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกและแพทย์จะรักษาให้หายขาดได้โดยง่ายก่อนที่มะเร็งปากมดลูกจะเกิดขึ้น

การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะเริ่มแรกทำได้อย่างไร

การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะเริ่มแรกนั้นทำได้โดยการตรวจหา HPV DNA ร่วมกับการตรวจ Pap smear ด้วยวิธี Thin Prep มีความแม่นยำเกือบ 100% สามารถตรวจหาเชื้อ HPV กลุ่มเสี่ยงสูงได้ทั้ง 14 สายพันธุ์ โดยสามารถระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ใด หากผลการตรวจปกติ สามารถเว้นระยะเวลาการตรวจได้ถึง 2 ปี อย่างปลอดภัย หรือตามที่แพทย์แนะนำ

รู้ทันป้องกันตนเพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก

การเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกหรือลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวี เป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิงโดยมีคำแนะนำที่ทำได้ง่ายๆ คือ

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย,การมีคู่นอนหลายคนและการสูบบุหรี่
  2. ดูแลรักษาร่างกายให้สุขภาพแข็งแรงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปและเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบว่าเซลล์บริเวณปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติหรือไม่
  4. การฉีดวัคซีนเอชพีวี เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?