ฝ้า คำคุ้นๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

ฝ้า คำคุ้นๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

มีคนไข้จำนวนไม่น้อยมาปรึกษาหมอด้วยเรื่อง… มีปื้นสีน้ำตาลเข้มถึงดำที่แก้มสองข้าง ยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งเข้มขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่คนไข้เองก็สามารถวินิจฉัยได้ว่ามันคือ “ฝ้า” น้อยคนนักที่จะไม่ทราบว่าเจ้าวายร้ายนี้คืออะไร จึงไม่แปลกที่คนไข้จึงมักได้รับการรักษามาแล้วอย่างโชกโชน ทั้งด้วยตนเอง ร้านขายยาทั่วไป ครีมที่โฆษณากันโครมๆ ว่ารักษาฝ้าหายทันใจ หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม บางส่วนบอกว่าดีขึ้น แต่โดยส่วนมากแล้วมักคงที่ และมีบางส่วนอาจแย่ลง ดังนั้นวันนี้หมอจึงนำเรื่องใกล้ตัว ที่ไม่มีใครอยากให้มาใกล้ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ฝ้า ( Melasma หรือ Chloasma ) คือ ปื้นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม หรือดำ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณใบหน้าที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดมากๆ เช่น โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง, หน้าผาก, ขมับ, เหนือริมฝีปาก และจมูก มักเป็นทั้งด้านซ้ายและขวา พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนอายุประมาณ 30-40 ปี โดยฝ้าเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีใต้ผิวหนังทำงานมากขึ้นกว่าปกติ จึงสร้างเม็ดสีออกมามากกว่าเดิม เม็ดสีที่ถูกลำเลียงสู่ผิวชั้นบนสุดหรือชั้นหนังกำพร้ามีลักษณะเข้มและขอบชัด เรียกว่า ฝ้าตื้น ส่วนเม็ดสีที่อยู่ใต้ต่อชั้นหนังกำพร้าลงมา และมีบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในชั้นหนังแท้ มักจะมีสีอ่อนกว่าอาจเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด เรียกว่า ฝ้าลึก โดยคนไข้ส่วนมากมักมีฝ้าทั้ง 2ชนิดปนกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า

  • แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเกิดฝ้า ไม่ว่าจะเป็น UVA, UVB และ Visible light
  • ฮอร์โมน ซึ่งมีผลทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น เช่น ในภาวะตั้งครรภ์, วัยหมดประจำเดือน, การทานยาคุมกำเนิด หรือ การใช้เครื่องสำอางที่มีฮอร์โมนเป็นส่วนผสม
  • พันธุกรรม เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดฝ้า มีรายงานว่าเป็นผลในครอบครัวได้ถึงเกือบ 50 % เลยทีเดียว
  • ภาวะทุพโภชนา อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากพบผื่นแบบฝ้าในผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ และผู้ที่ขาดวิตามิน บี 12 เป็นต้น
  • เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไฮโดรควินโนน อาจทำให้เกิดรอยดำคล้ายฝ้าได้

ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝ้า โดยทั่วไปแล้ว ฝ้าตื้นนั้นเกิดได้ง่ายและอยู่ตื้น จึงรักษาได้ง่ายกว่าฝ้าลึก ซึ่งไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาเท่าที่ควร เมื่อเราทราบถึงเหตุปัจจัยแล้ว ก็ขอให้พยายามหาสาเหตุของตนเอง และแก้ไข หรือ หลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า หรือป้องกันฝ้าที่มีอยู่แล้วไม่ให้เข้มไปกว่าเดิม

การหาสาเหตุและพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดฝ้า

  • ถ้าแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นฝ้า เช่น ในคนที่ต้องทำงานกลางแดด หรือ ชอบเล่นกีฬากลางแจ้งที่ต้องโดนแดดเป็นเวลานานๆ เช่น กอล์ฟ หรือ เทนนิส ก็ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น เนื่องจากเป็นเวลาที่มีแสงยูวีเข้มข้นที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ แนะนำให้ใส่หมวก กางร่ม หรือใส่หน้ากากกันยูวี และต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกัน (SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไปค่ะ
  • ถ้าสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น จากภาวะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องรอเวลาที่ฮอร์โมนนั้นหมดไป ซึ่งส่วนใหญ่ฝ้าก็จะดีขึ้นตามลำดับหลังการคลอดบุตร แต่ก็มีคนไข้บางส่วนที่ฝ้าอาจติดถาวรได้ แต่ถ้าฝ้าเกิดจากการได้รับฮอร์โมนจากภายนอก เช่น การรับประทาน หรือการแปะยาคุมกำเนิด การใช้เครื่องสำอางบางชนิดที่มีฮอร์โมนหรือสารสกัดจากรก (Placental extract) เป็นส่วนประกอบ คนไข้อาจใช้วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด เช่น การใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือ การใช้ถุงยางอนามัย แทนเป็นต้น หรือด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่

การรักษาฝ้า

การรักษาฝ้าด้วยยา

ยาทาที่รักษาฝ้านั้นมีมากมาย ทั้งกลุ่มที่ให้ผลเร็ว ซึ่งย่อมมีผลข้างเคียงตามมาด้วย และยาที่ให้ผลช้า แต่ผลข้างเคียงต่ำ ยาส่วนใหญ่จะทำให้ ฝ้าจางลงด้วยการยับยั้งการสร้างเม็ดสีโดยไม่ได้ไปทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี ดังนั้นถ้าหยุดยาเมื่อใด ฝ้าก็มีโอกาสกลับคืนมาได้เช่นกัน

การรักษาฝ้าด้วยกระบวนการ Laser Rejuvenation

หนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้การรักษาฝ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ กระบวนการ Laser Rejuvenation โดยใช้เครื่อง HELIOS II ซึ่งสามารถผลิตแสงเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้า กระ ผิวหน้าสีไม่สม่ำเสมอ รอยสักสีดำ  สีน้ำเงิน สีเขียว เป็นต้น รอยโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดสี รวมถึงปาน และจุดด่างดำ นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวหน้าในระหว่างการรักษาอีกด้วย

การใช้แสงเลเซอร์รักษาผิวหนังอาจฟังดูน่ากลัวสำหรับหลายๆคน แต่เครื่อง HELIOS II นั้นปลอดภัยเป็นพิเศษ  ในระหว่างทำการรักษาจะรู้สึกเพียงอุ่นๆ และยิบ ๆในบริเวณที่เป็นผิวหนังปกติ และเพียงรู้สึกดีดๆ ในบริเวณที่มีเม็ดสีเท่านั้น  ด้วยความเสถียรของพลังงานเลเซอร์ยังช่วยไม่ให้เกิดจุดเลือดออก และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

หลังการรักษา คนไข้เพียงแค่ดูแลผิวหลังตามคำแนะนำของคุณหมอด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่น หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ทาครีมบำรุงผิวหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่า 30 ก็เพียงพอค่ะ

การรักษาฝ้าด้วยวิธีอื่นๆ

เช่น การลอกผิว ทั้งด้วยสารเคมี (Chemical Peeling), การเร่งการผลัดเซลล์ผิวด้วย AHA (กรดผลไม้) หรือ การขัดผิวด้วยเกร็ดอัญมณี (Microdermabrasion)

การรักษาฝ้าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน การป้องกันไว้ก่อนจึงย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน การหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ ในช่วง 10โมงเช้าถึง 4โมงเย็น และการใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ ก็สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญลงได้ แต่หากเกิดฝ้าขึ้นแล้ว… การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อขอรับคำปรึกษาและค้นหาสาเหตุ ก็จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้นค่ะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?