การติดตามพัฒนาการ และการตรวจประเมินคัดกรองพัฒนาการในเด็ก 3 ขวบปีแรก

การติดตามพัฒนาการ และการตรวจประเมินคัดกรองพัฒนาการในเด็ก 3 ขวบปีแรก

ทำไมถึงต้องติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการ และทำไมถึงต้องเป็นช่วง 3 ปีแรก?

ช่วงเวลา 3 ขวบปีแรกของชีวิต เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ทั้งด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์ หากในช่วงเวลานี้ เด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะส่งผลให้เด็กพัฒนาได้เต็มศักยภาพของตนเอง แต่หากมีปัจจัยใดๆก็ตาม ที่ทำให้เกิดความล่าช้าหรือเบี่ยงเบนของพัฒนาการในช่วงเวลานี้ และสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก จะมีความสำคัญมาก เพราะการช่วยเหลือแก้ไขยิ่งเร็วเท่าไร ก็จะได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น

การติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการทำอย่างไร? และควรทำเมื่อไร?

จากคำแนะนำขององค์กรกุมารแพทย์ทั้งในประเทศ (ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย) และต่างประเทศ ( American Academy of Pediatrics) การติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการและการคัดกรองพัฒนาการในเด็กควรเริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก โดยรวมอยู่ในการดูแลสุขภาพเด็กทุกครั้งที่เด็กมารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี โดยมีหลักการดังนี้

  • มีการสอบถามผู้ที่ดูแลเด็กว่ามีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กหรือไม่
  • สอบถามถึงประวัติพัฒนาการของเด็กช่วงที่ผ่านมา
  • สังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการเด็กระหว่างมารับบริการ และ
  • บันทึกผลการตรวจประเมินต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามต่อไปตามความเหมาะสม

เมื่อใดก็ตามที่ผู้เลี้ยงดูเด็ก หรือบุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการมีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก ควรทำการตรวจประเมินพัฒนาการของเด็กด้วยแบบคัดกรองที่เหมาะสมโดยทันที ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไร แต่หากไม่มีข้อกังวลใดๆ เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจประเมินคัดกรองพัฒนาการด้วยเครื่องมือมาตรฐานที่เหมาะสมอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่อายุ 9, 18, และ 24-30 เดือน

ทำไมต้อง 9, 18, และ 24-30 เดือน?

9 เดือน

ในช่วงอายุนี้ เด็กจะมีพัฒนาการที่มากขึ้นจนพอที่จะประเมินหาความผิดปกติของพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ การได้ยิน การมองเห็น ได้ และเป็นช่วงอายุที่เด็กเริ่มมีการสื่อสารความต้องการหรือความสนใจต่างๆกับคนใกล้ชิด หากเด็กไม่สามารถสื่อสารความต้องการหรือความสนใจของตนกับคนอื่นๆได้อย่างเหมาะสม อาจจะเป็นอาการแรกเริ่มของความผิดปกติบางอย่าง เช่นภาวะออทิสติก ในกรณีที่เด็กไม่ได้รับการตรวจประเมินในช่วงอายุ9 เดือน อย่างน้อยควรได้รับการตรวจภายในขวบปีแรก

18 เดือน

ในช่วงอายุนี้ จะพบปัญหาความล่าช้าของพัฒนาการทางภาษาได้บ่อย โดยเฉพาะหากเด็กยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลยแม้แต่คำเดียว ถือเป็นข้อบ่งชี้ของการตรวจประเมินพัฒนาการ  ปัญหาพัฒนาการทางกล้ามเนื้อที่เป็นไม่มาก และยังตรวจไม่พบที่อายุ 9 เดือน ก็มักจะตรวจพบได้ในช่วงนี้

ในเด็กที่มีภาวะออทิสติกที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ในขวบปีแรก มักจะตรวจพบได้ในอายุนี้ โดยจะพบว่ามีพัฒนาการภาษาล่าช้า ร่วมกับมีปัญหาในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมีความสนใจหรือหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่างเกินปกติ มีผลการวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่า เด็กที่มีภาวะออทิสติก ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น

24-30 เดือน

ที่ช่วงอายุนี้ ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในด้านต่างๆทั้ง กล้ามเนื้อ ภาษา และสติปัญญา มักจะได้รับการตรวจพบและเริ่มการดูแลรักษาไปแล้ว แต่หากความล่าช้านั้นเป็นไม่มากหรือไม่ถึงขั้นที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงก่อนอายุ 2 ขวบ ก็จะสามารถตรวจพบในช่วงนี้ได้ อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็กส่วนใหญ่เตรียมเข้าสู่ระบบโรงเรียน การมาประเมินพัฒนาการของเด็กจะดูรวมถึง ความพร้อมของเด็กที่จะเข้าโรงเรียนด้วย และผู้ดูแลเด็กสามารถปรึกษาเพิ่มเติมหากมีความกังวล ในเรื่องอื่นๆ เช่นสมาธิ ปัญหาพฤติกรรม

ใครทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวังและประเมินคัดกรองพัฒนาการ?

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ควรเป็นกุมารแพทย์ หรือบุคลาการทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาเด็กในคลินิกสุขภาพเด็กดีเป็นประจำ เพราะเป็นผู้ที่เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง หากผู้ดูแลหรือกุมารแพทย์มีความกังวลหรือข้อสงสัยว่าจะมีความล่าช้าหรือปัญหาพัฒนาการ สามารถส่งตรวจประเมินพัฒนาการด้วยเครื่องมือมาตรฐานได้ทันที  ผู้ที่ทำการตรวจประเมินจะเป็นกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม หรือนักจิตวิทยา

เมื่อคัดกรองแล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป?

หากทำการตรวจประเมินแล้วพบว่ามีความล่าช้าจริง กุมารแพทย์ผู้ดูแลจะส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตรวจยืนยันการวินิจฉัย ผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม กุมารแพทย์ระบบประสาท หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรืออาจเป็นสหสาขาดูแลร่วมกัน เมื่อผู้เชี่ยวชาญยืนยันการวินิจฉัย จะเริ่มให้การรักษาอย่างเป็นองค์รวมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เช่นนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพ นักจิตวิทยา นักฝึกพูดและแก้ไขการพูด และนัดติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

หากคัดกรองด้วยเครื่องมือมาตรฐานแล้ว ยังไม่พบว่ามีความล่าช้า แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กมาตรวจติดตามตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามหลักการดังกล่าวแล้วต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?