เพื่อนขอตัวไปเข้าห้องน้ำหายไปร่วมชั่วโมง เรียกชื่อคุยด้วยก็ตอบแค่ “หือ เออ” ชวนไปเที่ยวก็ไม่อยากไป ชอบหมกตัวในห้องก้มหน้าจ้องจอโทรศัพท์ มือซ้ายขวากดยึกยักดูไม่ออกว่าเล่นเกมหรือกำลังหลงอยู่ในโลกโซเชียล
พฤติกรรมเสพติดเหล่านี้ นับเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากคนที่สร้างโปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งเกม โซเชียลมีเดีย ล้วนเรียนรู้มาแล้วว่าทำอย่างไรให้คนสนใจ เป็นลักษณะของการเข้าไปจัดการกับระบบการให้รางวัลของสมอง หรือ รีวอร์ดซีสเต็ม (Reward system) เปรียบเสมือนการเล่นการพนัน เมื่อเล่นอยู่ ณ เวลาหนึ่งจะมีความสุข หลังจากนั้นไม่นานจะเริ่มไม่สุขแล้ว จึงต้องเพิ่มปริมาณ เพิ่มเงิน เพิ่มเวลามากขึ้น เนื่องจากระบบให้รางวัลนี้ หากทำงานนานๆ จะมีอาการดื้อ ต้องเพิ่มปริมาณเพื่อให้มีความสุขเท่าเดิม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น การติดจอ เกม หรือโซเชียลก็เช่นกัน ดังนั้นเราควรหันมาตระหนักถึงภัยเงียบที่กำลังคุกคามเพื่อน คนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือแม้แต่ตัวของเราเอง
นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายทรุดโทรมเนื่องจากพักผ่อนน้อย สายตาเสียเพราะต้องจ้องจอเล็กๆ แสงจ้าๆ การติดจอยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย เนื่องจากการจดจ่อกับจอนานๆ ร่างกายจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) สารที่ทำให้เกิดความสุข แต่หากร่างกายสารหลั่งโดพามีนติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง จะแปรเปลี่ยนเป็นความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าผู้ที่ติดเกมทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักเป็นคนอารมณ์ดี แต่พอเล่นไปนานๆ จนกลายเป็นความเครียดรู้สึกว่าต้องจดจ่อหรือเอาชนะให้ได้ เหมือนถูกดูดเข้าไปในโลกคู่ขนาน จนละเลยโลกความจริง เมื่อถูกขัดจังหวะ จะแสดงออกด้วยความก้าวร้าว หงุดหงิด เช่นเดียวกับปัญหาการเสพยาบ้าซึ่งกระตุ้นการหลั่งสารโดพามีนให้มีความสุข แต่เมื่อหลั่งมากเกินไป จนเปลี่ยนเป็นความเครียด ความก้าวร้าว หากยังคงเสพต่อเนื่องจะกลายเป็นหูแว่วและประสาทหลอนในที่สุด
เมื่อเด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันติดจอ ปัญหาและความเสียหายอาจไม่แตกต่างกัน เนื่องจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระบบสมองแบบเดียวกัน แต่ผู้ใหญ่ยังมีสติ มีความเข้าใจ หรืออาจมีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบมากกว่า ส่วนเด็กๆ เป็นวัยที่สนุกสนาน มีความรับผิดชอบน้อย โอกาสที่จะเสพติดจอได้ง่ายกว่า
แน่นอนว่าเด็กติดเกมย่อมสร้างความลำบากใจให้พ่อแม่ แต่หากเด็กๆ ยังมีความรับผิดชอบ ไปโรงเรียนสม่ำเสมอและยังมีผลการเรียนที่ดี ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองยังไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ดูจอไม่ว่าจะเป็นจอแบบใด เนื่องจากเด็กเล็กยังอยู่ในช่วงพัฒนาสมองและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย
ในเด็ก ควรรอจนกว่าอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไปจึงพิจารณาให้ดูจอได้ โดยต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ เพื่อป้องกันปัญหาขาดระเบียบ วินัย การควบคุมตัวเอง ซึ่งสามารถฝึกได้ในช่วงอายุ 6-7 ปี และไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สามารถรับรู้เหตุผล สำหรับผู้ใหญ่ติดจอมักไม่รู้ตัว คนรอบข้างจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและบอกกล่าวโดยใช้เหตุผล ชี้แนะให้เห็นถึงปัญหา รู้จักพูดคุยอย่างนุ่มนวล และให้กำลังใจ เนื่องจากผู้ติดจออาจไม่ยอมรับความจริง
ทั้งนี้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีปัญหาติดจอมากๆ อาจมาจากสาเหตุทางร่างกาย (biology) ทางจิตใจ (psychology) และทางสังคม (social)
การติดหน้าจออาจเกิดจาก ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองทำให้ติดง่าย หรือเป็นโรคบางชนิด เช่น สมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า และไบโพลาร์ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่นได้เลยนอกจากสิ่งที่ชอบ หรือไม่สามารถบังคับใจให้เลิกเล่นได้นั่นเอง การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกายจึงมีความจำเป็น เพื่อทำการรักษาด้วยการใช้ยา หรือทำการบำบัดให้หายเป็นปกติ สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
สำหรับผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ ควรได้รับการฝึกวินัย ฟังความเห็นของคนรอบข้าง และยอมรับกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน
การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีก็มีความสำคัญเช่นกัน หากปล่อยให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนติดจอ การปลีกตัวออกมาอาจเป็นเรื่องยาก ผู้ปกครองจึงควรดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง ในส่วนของผู้ใหญ่เอง การออกไปพบปะเพื่อนฝูง หากิจกรรมใหม่ๆ นอกบ้าน ออกกำลังกายจะช่วยให้ห่างไกลจอได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกปัจจุบันรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล การเข้าถึงสื่อออนไลน์ ส่องดูชีวิตส่วนตัวของดารา เกม หรือแม้แต่การจับจ่ายซื้อของ ต่างสามารถทำได้เพียงมีจอเล็กๆ บนสมาร์ทโฟนเท่านั้น การรู้เท่าทันปัญหาและรับฟังความเห็นของคนรอบข้างที่ห่วงใยจึงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับการฝึกวินัย ยอมรับ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขอย่างรู้เท่าทัน
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่