หาวบ่อย เสี่ยงโรค

หาวบ่อย เสี่ยงโรค

Highlight:

  • หาวบ่อย หรืออาการหาวมากผิดปกติ คือมีการหาวมากกว่า 1 ครั้งใน 1 นาที ซึ่งอาจเกิดจากความง่วง หรืออาจถูกกระตุ้นจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ 
  • การหาวมากผิดปกติอาจเกิดจากโรคได้ เช่น ภาวะเลือดออกบริเวณในหรือรอบ ๆ หัวใจ หรือโรคหัวใจ มะเร็งหรือก้อนเนื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคปลอกประสาทอักเสบ ภาวะตับวาย 
  • การหาวที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือความเหนื่อยล้า สามารถใช้วิตามินเสริมช่วยลดความเหนื่อยล้าได้  

การหาวเป็นกลไกปกติของร่างกาย ทุกคนจะหาวในทุก ๆ วัน แต่ทราบหรือไม่ว่าการหาวอาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรคได้ด้วย  

การหาวคืออะไร หาวแบบไหนผิดปกติ

การหาวคือปฏิกิริยาที่ร่างกายมีการอ้าปากและสูดหายใจเข้าลึก ซึ่งอาจถูกกระตุ้นด้วยความเหนื่อย ความง่วง หรือเมื่อยล้า การต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นของร่างกาย การหาวอาจเกิดได้จากการพูดถึงหรือการเห็นผู้อื่นหาว มีแนวคิดว่าที่มนุษย์หาวตาม ๆ กัน (contagious yawn) อาจเป็นการสื่อสารทางสังคมของมนุษย์ชนิดหนึ่ง

อาการหาวมากผิดปกติคือมีการหาวมากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งนาที ซึ่งอาจเกิดจากความง่วง หรืออาจถูกกระตุ้นจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ก็เป็นได้

หาวบ่อยเกิดจากอะไร สาเหตุของการหาวมากผิดปกติ

  • ความง่วง เหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ 
    การนอนหลับไม่เพียงพอนั้นสามารถเกิดได้จากระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นเกินไป หรืออาจเกิดจากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่นอนหลับ อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ในอนาคต การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลอื่น ๆ ต่อร่างกายได้ เช่น ไม่มีสมาธิ ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า รู้สึกอยู่ไม่สุข เซื่องซึม ไม่ต้องการทำอะไร หรือเหนื่อยเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย หากสงสัยว่าตนมีภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทดสอบการนอนหลับ (sleep test) 
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น กลุ่มยานอนหลับ ยาช่วยคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวดบางชนิด 
  • การหาวมากผิดปกติยังอาจเกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ได้ เช่น 
    • ภาวะเลือดออกบริเวณในหรือรอบ ๆ หัวใจ หรือโรคหัวใจ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปแขนหรือคอ หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ วิงเวียน หน้ามืด 
    • มะเร็งหรือก้อนเนื้อในสมอง เกิดการกดเบียดทำให้เนื้อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงต้องการการหาวเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ชาหรืออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปัญหาด้านการมองเห็น ปัญหาด้านความจำ เป็นต้น 
    • โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เนื้อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเช่นกัน จะมีอาการชา อ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ มีการมองเห็นผิดปกติ หรือวิงเวียนร่วมด้วย 
    • โรคลมชัก เกิดการนำกระแสประสาทผิดปกติในหลายส่วนหรือทั้งหมดของสมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในบางครั้งกระแสประสาทผิดปกตินี้เกิดในสมองส่วนที่ควบคุมการหาว จึงทำให้เกิดการหาวที่ผิดปกติร่วมด้วยได้ 
    • โรคปลอกประสาทอักเสบ (multiple sclerosis) ทำให้เส้นประสาทในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเสียหาย ไม่สามารถควบคุมร่างกายบางส่วนได้ หรืออาจเกิดจากความเหนื่อยเพลียและควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ได้ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยปลอกประสาทอักเสบ โดยผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยเพลียมากผิดปกติ ชาหรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่มที่ลำตัว ใบหน้า แขน ขา การมองเห็นผิดปกติ วิงเวียน เดินหรือทรงตัวลำบาก เป็นต้น 
    • ภาวะตับวาย มักพบในรายที่อาการรุนแรงเนื่องจากจะทำให้อ่อนเพลีย มีปัญหาในการนอนหลับ ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว สับสน รู้สึกง่วงมากในช่วงกลางวัน บวมตามลำตัวหรือแขน ขา 
    • ภาวะร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการหาวเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ หากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด การใช้ยาบางชนิด ในผู้สูงอายุ อาจเกิดการหาวผิดปกติเพื่อเป็นการช่วยในการควบคุมอุณหภูมิกายอีกวิธีหนึ่ง 

การสังเกตตนเองและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสามารถช่วยวินิจฉัยและรักษาภาวะทางกายต่าง ๆ เหล่านี้ได้ 

วิธีแก้ไขอาการหาวบ่อยผิดปกติเบื้องต้น ด้วยตนเอง

หากมีอาการหาวผิดปกติ อาจลองแก้ไขด้วยตนเองได้ดังนี้ 

  • หายใจลึก ๆ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย สามารถลดการหาวได้ในผู้ที่การหาวเกิดจากร่างกายต้องการออกซิเจน หรือในกรณีหาวติดต่อกับผู้อื่น (contagious yawn) 
  • เคลื่อนไหว ขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถกระตุ้นระบบประสาทและสมองได้ สามารถลดการหาวในผู้ที่การหาวเกิดจากความเหนื่อยล้า เบื่อ หรือความเครียดได้ 
  • เพิ่มความเย็นในร่างกาย เช่น การเดินไปยังบริเวณที่อากาศเย็นและถ่ายเท ดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารว่างเย็น ๆ  เช่น ผลไม้แช่เย็น 

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

ควรพบและปรึกษาแพทย์เมื่อมีการหาวบ่อยมากกว่าปกติและมีอาการอื่นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการทางกายที่ผิดปกติอื่น ๆ 

การรักษาอาการหาวบ่อย

เนื่องจากการหาวผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น 

  • การหาวที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือความเหนื่อยล้า สามารถใช้วิตามินเสริมช่วยลดความเหนื่อยล้าได้ ในผู้ที่ขาดวิตามิน 
  • การหาวผิดปกติที่เกิดจากปัญหาด้านการนอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอาจแนะนำแนวทางเพื่อการนอนหลับที่ดีขึ้น เช่น การเข้านอนเป็นเวลาเดิมในทุก ๆ คืน การใช้อุปกรณ์ช่วยการหายใจขณะนอนหลับ การออกกำลังเพื่อลดความเครียด หรือการใช้ยาในรายที่จำเป็น เป็นต้น 
  • การหาวผิดปกติที่เกิดจากยา แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงหรือหยุดยาที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรปรับหรือหยุดยาด้วยตนเอง 
  • การหาวที่เกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษาที่ตัวโรค ซึ่งจะทำให้อาการหาวผิดปกติดีขึ้นได้
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?