อัณฑะไม่ลงถุง ภาวะที่อาจพบได้ในเด็ก รักษาเร็ว หายได้ไว

อัณฑะไม่ลงถุง ภาวะที่อาจพบได้ในเด็ก รักษาเร็ว หายได้ไว

HIGHLIGHTS:

  • อัณฑะไม่ลงถุง คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะไม่อยู่ในภายในถุงอัณฑะตามที่ควรจะเป็น ซึ่งลูกอัณฑะอาจไปอยู่ที่ขาหนีบหรือในช่องท้องก็ได้
  • อัณฑะไม่ลงถุงอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น เกิดภาวะมีบุตรยาก ฮอร์โมนเพศไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อน อัณฑะบิด หรือมะเร็งอัณฑะได้
  • การรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุง สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบแผลเปิด และการรักษาแบบผ่าตัดส่องกล้อง 
  • อัณฑะไม่ลงถุงสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หลังรับการรักษา ดังนั้นจึงควรสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอ

สารบัญบทความ

  1. อัณฑะไม่ลงถุง คือภาวะอะไร
    1.1 ลักษณะของอัณฑะไม่ลงถุง
  2. อัณฑะไม่ลงถุง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
  3. อาการของภาวะอัณฑะไม่ลงถุงเป็นอย่างไร
  4. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงอันตรายอย่างไร
  5. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมีโอกาสเกิดได้มากน้อยแค่ไหน
  6. วิธีการตรวจวินิจฉัยอัณฑะไม่ลงถุง
  7. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงรักษาอย่างไร
    7.1 ผ่าตัดแบบเปิด
    7.2 ผ่าตัดแบบส่องกล้อง
  8. อายุเท่าไรถึงจะเหมาะสมกับการผ่าตัดรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุง
  9. หลังรับการรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุงควรดูแลอย่างไร
  10. อัณฑะไม่ลงถุงไม่อันตรายอย่างที่คิด รักษาได้ที่สมิติเวช

1. อัณฑะไม่ลงถุง (Undescended testis) คือภาวะอะไร

อัณฑะไม่ลงถุง คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะไม่อยู่ในถุงอัณฑะตามที่ควรจะเป็น ซึ่งปกติแล้วในช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ลูกอัณฑะจะอยู่ในช่องท้องส่วนล่าง และจะค่อย ๆ มีการเคลื่อนตัวลงจากหลังช่องท้อง ขาหนีบ ไปยังถุงอัณฑะในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้าย แต่ในกรณีที่การเคลื่อนตัวของลูกอัณฑะเกิดความผิดปกติ จะสามารถทำให้เกิดภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุงได้ โดยมีลักษณะของอัณฑะไม่ลงถุงอยู่ถึง 4 รูปแบบ ดังนี้

1.1 ลักษณะของอัณฑะไม่ลงถุง

  • การเคลื่อนตัวของลูกอัณฑะยังอยู่ในเส้นทาง (Undescended testis)
    ลูกอัณฑะอาจเคลื่อนตัวลงมาไม่ถึงถุงอัณฑะ หรืออยู่บริเวณขาหนีบ 
  • การเคลื่อนตัวของลูกอัณฑะอยู่นอกเส้นทาง (Ectopic testes) 
    ลูกอัณฑะอาจเคลื่อนตัวออกนอกเส้นทางที่ควรจะเป็น ทำให้ลูกอัณฑะอาจไปอยู่กลางท้องน้อย หรืออาจเคลื่อนตัวลงไปยังต้นขา
  • การเคลื่อนตัวของลูกอัณฑะแบบหดขึ้น (Retractile testes) 
    เป็นภาวะที่ลูกอัณฑะอยู่ในตำแหน่งปกติ แต่บางวันอาจมีการเคลื่อนตัวขึ้นไป และอาจกลับลงมาในถุงได้เอง
  • ไม่มีลูกอัณฑะอยู่เลย (Anorchia)
    เป็นภาวะที่ไม่พบลูกอัณฑะเลยเนื่องจากความผิดปกติด้านพัฒนาการทางเพศขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดขึ้นทั้งสองข้าง

2. อัณฑะไม่ลงถุง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง แต่ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจส่งผลให้มีโอกาสเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมากขึ้น

  • เด็กมีภาวะผนังหน้าท้องโหว่หรือหย่อนแต่กำเนิด ทำให้ความดันในช่องท้องน้อยจนไม่สามารถดันให้ลูกอัณฑะลงมายังถุงอัณฑะได้
  • ฮอร์โมนของคุณแม่ไม่สมดุลระหว่างตั้งครรภ์
  • เนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณถุงอัณฑะไม่แข็งแรง 
  • โรคทางพันธุกรรม และความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม อวัยวะเพศกำกวม เป็นต้น

3. อาการของภาวะอัณฑะไม่ลงถุงเป็นอย่างไร

หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงจะไม่มีอาการที่ชัดเจน เนื่องจากคนไข้เด็กจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกถึงความผิดปกติใด ๆ นอกจากการคลำไม่พบลูกอัณฑะในถุงอัณฑะเท่านั้น แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะไม่ลงถุงร่วมกับไส้เลื่อน หรืออัณฑะไม่ลงถุงร่วมกับอัณฑะบิด อาจทำให้มีอาการปวดอัณฑะรุนแรงได้

4. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงอันตรายอย่างไร

ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติด้านอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ภาวะมีบุตรยาก 
    เพราะลูกอัณฑะเป็นส่วนที่สร้างสเปิร์ม เมื่อลูกอัณฑะอยู่ในตำแหน่งและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การสร้างและการเจริญเติบโตของสเปิร์มจึงผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา 
  • มะเร็งอัณฑะ
    เนื่องจากลูกอัณฑะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงอาจทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ ภายในอัณฑะเกิดความผิดปกติ และอาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต
  • ไส้เลื่อน
    เนื่องจากกระบวนการสร้างถุงอัณฑะในครรภ์ จะมีการลากเยื่อบุช่องท้องบางส่วนลงมาเป็นท่อเพื่อลำเลียงลูกอัณฑะสู่ถุงอัณฑะ ซึ่งปกติเมื่อลูกอัณฑะลงสู่ถุงอัณฑะเป็นที่เรียบร้อย ท่อส่วนนี้จะตีบลง แต่เมื่อเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุง จึงทำให้ท่อนี้ไม่ตีบตัว และส่งผลให้ลำไส้เลื่อนลงมาได้
  • อัณฑะบิด
    ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงทำให้โครงสร้างของอัณฑะไม่มั่นคง มีการเคลื่อนตัวได้ง่าย จึงมีโอกาสที่ขั้วอัณฑะจะบิดหมุน และก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงตามมา ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีโอกาสที่อัณฑะจะขาดเลือด และสร้างความเสียหายให้กับอัณฑะได้อย่างถาวร จนอาจต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งได้

5. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมีโอกาสเกิดได้มากน้อยแค่ไหน

ในเด็กแรกเกิดมีโอกาสที่จะเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุงได้ประมาณ 2-5% ซึ่งในจำนวนนี้มีโอกาสที่อัณฑะจะเคลื่อนลงมาได้เองภายในอายุ 6 เดือน จะมีเด็กเพียงแค่ 1-2% เท่านั้นที่อัณฑะไม่สามารถเคลื่อนที่ลงถุงได้ตามปกต

นอกจากนี้ ในเด็กโตก็สามารถเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุงได้ แม้ตอนแรกเกิดไม่เคยเป็นภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมาก่อนก็ตาม โดยภาวะนี้ในเด็กโตอาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น มีความยืดหยุ่นของเส้นเลือดที่เลี้ยงอัณฑะน้อย หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันไม่แข็งแรง เป็นต้น
 

6. วิธีการตรวจวินิจฉัยอัณฑะไม่ลงถุง

ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงมักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด จึงมีโอกาสที่จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านการอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์ ส่วนการตรวจในเด็กแรกเกิดหลังคลอด สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการสังเกตหรือคลำเจอ โดยเด็กที่มีภาวะอัณฑะไม่ลงถุงจะสามารถเห็นลูกอัณฑะนูนบริเวณขาหนีบ หรือพบถุงอัณฑะแฟบ อัณฑะทั้งสองข้างมีลักษณะไม่เท่ากันอย่างชัดเจน 

สำหรับกรณีที่ถุงอัณฑะแฟบ แพทย์จะไม่สามารถคลำเจอลูกอัณฑะได้ ต้องใช้การตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์ เพื่อหาตำแหน่งของลูกอัณฑะและตรวจสอบการเจริญเติบโตหรือการฝ่อตัวของลูกอัณฑะ ซึ่งหากตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์ไม่เจอว่าลูกอัณฑะเคลื่อนไปอยู่ส่วนไหน แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยการทำ MRI ซึ่งจะให้ผลการตรวจที่ละเอียดมากกว่า

7. ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุงนั้นแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัด เนื่องจากการที่ลูกอัณฑะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมา โดยวิธีการผ่าตัดจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่

7.1. ผ่าตัดแบบเปิด
การผ่าตัดแบบดั้งเดิม เหมาะสำหรับกรณีที่ลูกอัณฑะอยู่บริเวณขาหนีบ สามารถคลำเจอและดึงลงมาสู่ถุงอัณฑะได้ง่าย โดยหลังผ่าตัดจะมีแผลที่ขาหนีบ 2-3 ซม. และแผลขนาดเล็กที่ถุงอัณฑะขนาดไม่เกิน 1 ซม. 

7.2. ผ่าตัดแบบส่องกล้อง
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง  เหมาะสำหรับกรณีที่ลูกอัณฑะอยู่ในตำแหน่งที่สูง หรืออยู่ในช่องท้อง ดูแล้วไม่สามารถดึงลูกอัณฑะลงถุงได้ง่าย หรือไม่ทราบตำแหน่งของลูกอัณฑะที่แน่ชัด ซึ่งหากไม่สามารถเห็นหรือคลำอัณฑะได้ตั้งแต่ภายนอก แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดด้วยการส่องกล้องเท่านั้น 

โดยที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็กในเด็ก (Pediatric Minimally Invasive Surgery) ผ่านการส่องกล้อง Laparoscopic ที่เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2 – 5 มม. ตามลำดับและความเหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กตั้งแต่วัยทารกแรกเกิดเป็นต้นไป

นอกจากนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องในเด็กจะทำให้มีการบาดเจ็บที่เนื้อแผลผ่าตัดหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ น้อยลง และอัตราการติดเชื้อเนื่องจากการผ่าตัดรักษาน้อยลงตามไปด้วย ส่งผลถึงการพักฟื้นของเด็กเร็วขึ้นตามไปด้วย โดยการผ่าตัดทั้งสองรูปแบบมักจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ แผลผ่าตัดจึงจะดีขึ้น ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเด็กจะไม่สามารถเดินทางไกลได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนการผ่าตัด

8. อายุเท่าไรถึงจะเหมาะสมกับการผ่าตัดรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุง

แนะนำให้ผ่าตัดในเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากเด็กในช่วง 6 เดือนแรกนั้น ลูกอัณฑะยังมีโอกาสที่จะเคลื่อนตัวลงมาสู่ถุงอัณฑะได้เอง และหากผ่าตัดในช่วงอายุเดือนน้อยมาก ๆ อาจมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด เนื่องจากขนาดอวัยวะยังเล็ก มีโอกาสที่จะตัดโดนเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอัณฑะและทำให้ลูกอัณฑะฝ่อได้ นอกจากนี้ ที่ต้องผ่าตัดภายในอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะหากอายุเกินกว่านี้ มีโอกาสที่ลูกอัณฑะจะฝ่อถาวรสูง และเกิดผลกระทบต่อการสร้างสเปิร์มในอนาคตได้  

ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไส้เลื่อน หรืออัณฑะบิด แพทย์จะให้เข้ารับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาจนอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

9. หลังรับการรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุงควรดูแลอย่างไร

แม้ได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะอัณฑะไม่ลงถุงแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุงซ้ำได้ ซึ่งการเป็นซ้ำมักเกิดจากแรงกระชากหรือแผลที่เย็บไว้หลุดออก ดังนั้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลคนไข้เด็กอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้ลูกวิ่งเล่นหรือออกแรงมากในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังการผ่าตัดรักษา

นอกจากนี้ แพทย์จะนัดติดตามอาการในช่วง 1 เดือน และ 3 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อเช็กลักษณะและตำแหน่งของลูกอัณฑะ ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและลูกอัณฑะมีการเจริญเติบโตได้ตามปกติหรือไม่ หลังจากนั้นผู้ปกครองควรพาลูกเข้ารับการตรวจปีละครั้ง หรือเช็กด้วยตนเองเป็นระยะ เพราะแม้ว่าภาวะอัณฑะไม่ลงถุงจะถูกรักษาให้หายดีแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งอัณฑะได้อยู่ ดังนั้นหากผู้ปกครองพบว่าลูกมีภาวะอัณฑะมีความผิดปกติ ควรต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

10. อัณฑะไม่ลงถุงไม่อันตรายอย่างที่คิด รักษาได้ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช

ภาวะอัณฑะไม่ลงถุงสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึงวัยรุ่น ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสังเกตลูกน้อยอยู่เสมอว่ามีภาวะอัณฑะไม่ลงถุงหรือไม่ และเมื่อถึงวัยที่รู้ความก็ควรสอนให้เด็ก ๆ หมั่นสังเกตตนเอง หากรู้ตัวเร็วว่าเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุง หรือเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ขึ้น จะได้สามารถเข้ามาปรึกษาและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที 

กุมารศัลยแพทย์ของศูนย์ศัลยกรรมเด็กและทารกแรกเกิดที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เป็นศัลยแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารศัลยศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย (รวศท.) ซึ่งผ่านการฝึกอบรม เป็นผู้ชำนาญการ มีประสบการณ์การรักษามากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ยังมีกุมารศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เฉพาะในเด็กอีกด้วย ได้นำเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็กในเด็ก (Pediatric Minimally Invasive Surgery) ผ่านการส่องกล้อง Laparoscopic มาให้บริการ ซึ่งอุปกรณ์การผ่าตัดมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ตั้งแต่ 2 , 3 , 5 มม. ตามลำดับและความเหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กตั้งแต่วัยทารกแรกเกิดเป็นต้นไป เพราะกุมารศัลยแพทย์สามารถมองเห็นพยาธิสภาพหรืออาการที่อยู่ลึกได้ชัดเจนขึ้นจากการส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไป และสามารถตัดพยาธิสภาพที่พบออกได้หมดทันทีด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2 – 5 มม. มีการบาดเจ็บ หรือบอบช้ำที่เนื้อแผลผ่าตัดหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ น้อยลง จะฟื้นตัวได้เร็ว

หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจ สามารถทำนัดและขอปรึกษาเบื้องต้นกับแพทย์ทางออนไลน์ได้ด้วย

อ้างอิง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?