อร่อยริมทางอย่างปลอดภัย

อร่อยริมทางอย่างปลอดภัย

HIGHLIGHTS:

  • หลีกเลี่ยงร้านริมทางที่อยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น เพราะเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารปนเปื้อนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมาก ส่งผลต่อการทำงานของปอดและระบบการหายใจ โดยทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ หายใจยาก หรือคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ในควันพิษท่อไอเสีย ยังมีผงคาร์บอน และสารตะกั่ว ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ มากกว่าร้านที่ปรุงสุกไว้พร้อมเสิร์ฟ ซึ่งอาจเป็นอาหารค้างมื้อ นำมาอุ่นซ้ำ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ประเทศไทยถือเป็นสวรรค์ของนักชิม โดยเฉพาะอาหารริมทางหรือ Street Food ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก แม้แต่สำนักข่าวดังอย่าง CNN ยังยกย่องให้ Bangkok Street Food เป็นอาหารริมทางที่ดีที่สุดอันดับ 1 จาก 23 เมืองทั่วโลก ติดต่อกันถึง 2 ปี ชนะขาดลอยโตเกียวและฮาวาย ที่มาเป็นอันดับ 2 และ 3

สำหรับคนไทยเองก็ฝากท้องกับอาหารริมทางมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นมื้อเร่งรีบยามเช้ากับน้ำเต้าหู้ หมูปิ้ง หรือโจ๊ก มื้อกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน ทั้งข้าวขาหมู ราดหน้าหรือก๋วยเตี๋ยวน้ำและแห้งหลากหลายแบบ ปิดท้ายวันด้วยแกงถุง หรือร่วมสังสรรค์กับเพื่อนที่เพิงส้มตำแสนแซ่บ ของหวานสุดอร่อยก่อนกลับบ้านพักผ่อน เพื่อเริ่มต้นวันอีกครั้ง

แต่บางครั้งการกินของริมทางก็เป็นเรื่องต้องใส่ใจ เนื่องจากสถานที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่ริมทางเท้าที่มีคนพลุกพล่านและมีรถยนต์ผ่าน คงหนีไม่พ้นการปนเปื้อนเชื้อโรคและฝุ่นละออง หรือจากวัตถุดิบเองที่ผู้ปรุงจัดเก็บและล้างไม่สะอาด รวมถึงวิธีปรุงที่ทำให้สุกไม่ทั่วถึงหรือใส่สารปรุงรสมากเกินไป ดังนั้นก่อนเลือกรับประทานอาหารริมทางอาจต้องใช้การสังเกตมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ต้องไปโรงพยาบาลหลังจากอิ่มอร่อยกับอาหารมื้อนั้น

เลือกให้ถูก เพื่อความอร่อยและปลอดภัย

  • ที่ตั้ง สิ่งที่ต้องใส่ใจให้มาก เริ่มต้นด้วยตำแหน่งที่ตั้งของร้านอาหาร ร้านริมทางส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฟุตบาท เพื่อความสะดวกต่อการเดินทาง เป็นทางผ่านที่คนหิวมักแวะหาอาหารใส่ท้อง แต่ในทางกลับกันร้านริมฟุตบาทมีความเสี่ยงอย่างมากจากการปนเปื้อนของฝุ่นหรือควันพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ โดยเฉพาะเมื่อตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นหรือติดขัดอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารริมทางเท้าจริงๆ ควรเลือกร้านที่มีอากาศถ่ายเท หรืออยู่ไกลออกจากฟุตบาท และไม่มีรถยนต์พ่นควันจากท่อไอเสียอยู่ตลอดเวลา
  • ความสะอาด ดูด้วยตา มองเจาะลึกไปถึงตู้ใส่วัตถุดิบ บริเวณที่ล้างถ้วยชาม โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องปรุงบนโต๊ะ ไม่ได้หมายความว่าต้องสะอาดเรียบร้อยขนาดเดียวกับร้านอาหารราคาแพง แต่เป็นความสะอาดทั่วๆ ไปที่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ
  • ปรุงสดใหม่ เลือกร้านอาหารที่ปรุงสุกใหม่ มากกว่าร้านปรุงสุกไว้พร้อมเสิร์ฟ ซึ่งไม่ทราบว่าอาหารเหล่านั้นปรุงสุกไว้นานแค่ไหน หรืออาจเป็นอาหารค้างมื้อ นำมาอุ่นซ้ำ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงอาหารบางชนิดที่มีส่วนผสมของกะทิมักบูดเสียในช่วงอากาศร้อน บางร้านจึงใส่สารกันบูดที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน

อาหารริมทางที่ควรระวัง

  1. อาหารทอด ของโปรดอันดับหนึ่ง ได้รับความนิยมตั้งแต่ในเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย เนื่องจากรับประทานง่าย อร่อย และราคาไม่แพง แต่ความอร่อยจากการทอดซ้ำเป็นอันตรายจากสารก่อมะเร็ง และไขมันทรานส์ แม้บางร้านจะเปลี่ยนน้ำมันอยู่เสมอ แต่การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก็เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรง เช่น โรคอ้วน ไขมันอุดตันเส้นเลือด เบาหวาน และความดันเลือดสูง
  2. ปิ้งย่าง หมู ไก่ และอาหารทะเล การปิ้ง ย่าง ที่อาหารสัมผัสโดยตรงกับตะแกรงและควันจากเตา เสี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งจากความไหม้เกรียม รวมถึงความสะอาดของอุปกรณ์ และความสะอาดของวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่มักมีสารปนเปื้อนฟอร์มาลีนเพื่อยืดอายุของอาหารสดไม่ให้เน่าบูดง่าย รวมถึงเครื่องปรุงในตัวเนื้อสัตว์และน้ำจิ้มที่ส่วนใหญ่มักใช้สารปรุงรสมากมาย เพื่อเพิ่มความอร่อย
  3. สีสัน ความหวาน และความกรุบกรอบของอาหาร เพื่อดึงดูดความน่าสนใจ โดยเฉพาะจากเด็กๆ อาหารสีสันสดใส ทั้งขนมกรุบกรอบ เบเกอรี่ หรือผลไม้ดอง บางครั้งเป็นสีสังเคาระห์ที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อใส่ในอาหาร รวมถึงความหวานที่เติมลงในอาหารอาจมาจากขัณฑสกร และเพิ่มความกรุบกรอบด้วยบอแร็กซ์ ซึ่งหากรับประทานมากๆ ล้วนไม่ดีต่อร่างกายทั้งสิ้น
  4. อาหารรสจัด ยำแซบต่างๆ ด้วยต้องใช้เครื่องปรุงและวัตถุดิบมากมายจึงอาจความคุมความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะผักสด หัวหอม กระเทียม รวมถึงถั่วลิสง กุ้งแห้ง และพริกป่น ซึ่งมักปนเปื้อนเชื้อรา ทั้งนี้สารให้ความเปรี้ยว อย่างมะนาวเทียม หรือน้ำส้มสายชู ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วงได้

โรคที่มาอาหารริมทางแบบไม่ใส่ใจ

ควันดำของรถยนต์เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ไนตริคออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์

การบริโภคอาหารปนเปื้อนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการทำงานของปอดและระบบการหายใจ โดยทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ หายใจยาก หรือคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ในควันพิษท่อไอเสีย ยังมีผงคาร์บอน และสารตะกั่ว ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดเกณฑ์ของสารตะกั่วขั้นต่ำสุดที่สามารถพบในอาหารได้ ไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กรัม หากรับประทานอาหารปนเปื้อนสารตะกั่วเป็นเวลานาน จะทำเกิดอันตรายต่อสมอง และอาจเสียชีวิตได้

การปนเปื้อนของเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อราในวัตถุดิบ นับเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ เนื่องมาจากร้านข้างทางบางร้านมีพื้นที่ไม่มากสำหรับการชำระล้างสิ่งสกปรกของวัตถุดิบ รวมถึงน้ำแข็ง และภาชนะที่ต้องใช้ซ้ำตลอดทั้งวัน ซึ่งหากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้อาจทำให้มีอาการอาหารเป็นพิษ อหิวาห์ตกโรค หรือท้องเสียรุนแรงได้

สารเคมี อาทิ สารกันบูด ขัณฑสกร บอแร็กซ์ รวมถึงมะนาวเทียมที่ได้มาจากกรดซิตริกสังเคราะห์ แม้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหากบริโภคเพียงเล็กน้อย แต่การรับประทานเป็นประจำจะเกิดการสะสมในร่างกายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้

แม้อาหารริมทางจะมีความอร่อย ถูกปาก เดินทางสะดวก และสบายกระเป๋า แต่หากบริโภคโดยไม่ระวังอาจส่งผลเสียกับสุขภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ การเลือกร้านอาหารริมทางที่สะอาดและใส่ใจในวัตถุดิบ จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึง ทั้งนี้การบริโภคแต่พอดีและออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เพื่อสุขภาพที่ดี และมีความสุขกับของอร่อยๆ ริมทางของไทยต่อไปนานๆ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?