ข้อเท้าพลิก แพลง เคล็ด

ข้อเท้าพลิก แพลง เคล็ด

HIGHLIGHTS:

  • สภาพร่างกายไม่ดี ข้อเท้ามีความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ ข้อเท้าพลิก หรือแพลงเมื่อเล่นกีฬา
  • กรณีข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลงไม่รุนแรง ร่างกายสามารถซ่อมแซมเส้นเอ็นที่เสียหายได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากหลังเกิดการบาดเจ็บ 1 เดือน แต่ยังมีอาการปวดอยู่ หรือข้อเท้าพลิก 3 เดือน แล้วอาการยังไม่หาย หรือมีการบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนอื่นร่วมด้วย ควรพบแพทย์
  • การไม่รักษาข้อเท้าพลิกหรือแพลงอย่างเหมาะสม การทำกิจกรรมเร็วเกินไปหลังจากข้อเท้าพลิกหรือแพลง หรือข้อเท้าพลิกหรือแพลงซ้ำๆ อาจนำไปสู่อาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง ความไม่มั่นคงของข้อเท้าเรื้อรัง หรือ โรคข้อเท้าอักเสบได้ 

ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง คืออะไร

ข้อเคล็ด หรือข้อแพลง (Sprains) คืออาการบาดเจ็บเนื่องมาจากข้อเคลื่อนไหวมากเกินไป จากการชน บิด พลิก อย่างแรงทำให้เยื่อหุ้มข้อหรือเอ็นรอบๆ ข้อฉีกขาดหรือช้ำ บริเวณที่พบมากได้แก่ ข้อเท้า ข้อมือ หัวเข่า และหัวไหล่  
ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) มักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากหรือฉีกขาดจนเกิดการบาดเจ็บขึ้น บางครั้งจึงเรียกภาวะข้อเท้าพลิก 
ข้อเท้าพลิก เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในการเล่นกีฬา และถูกมองว่าสามารถรักษาดูแลอาการด้วยตนเองได้ที่บ้าน แต่หากการรักษาไม่เหมาะสม อาจทำให้มีอาการปวดซ้ำๆ ไปอีกหลายปี จากการศึกษาพบว่าประมาณ 20-30% ของผู้ที่เคยข้อเท้าพลิกและเกิดภาวะข้อเท้าแพลง  จะเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายขึ้น และประสบกับภาวะไม่มั่นคงของข้อเท้าแบบเรื้อรัง (chronic ankle instability)  
 

อาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

อาการข้อเท้าพลิก พบได้ตั้งแต่อาการปวด บวม แดง ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินลงน้ำหนักเท้าได้  มักมีอาการดังนี้ 

  • เจ็บปวดบริเวณข้อเท้า  โดยเฉพาะเมื่อต้องลงน้ำหนักที่เท้า 
  • ข้อเท้าบวม
  • มีรอยช้ำเลือด หรือสีผิวบริเวณข้อเท้าเปลี่ยนไป
  • เกิดอาการยึดตึงบริเวณข้อเท้า 
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
  • รู้สึกข้อเท้าไม่มั่นคง
  • อาจมีความรู้สึกหรือได้ยินเสียงแตก ขณะที่ข้อเท้าพลิก

อาการข้อเท้าแพลง แบ่งตามความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ความรุนแรงระดับที่ 1 (mild)  ภาวะเส้นเอ็นยึดข้อถูกยืด หรือขาดเพียงเล็กน้อย มีอาการเจ็บไม่รุนแรง ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ
  • ความรุนแรงระดับที่ 2 (moderate) ภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน  เริ่มมีอาการปวดบวม เดินลงน้ำหนักได้เล็กน้อย
  • ความรุนแรงระดับที่ 3 (severe) ภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด มีอาการปวดและบวมอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้
     

สาเหตุข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

สาเหตุของข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าบิด ผิดรูป จนเส้นเอ็นยึดข้อเท้ากับกระดูกขาเกิดการยึดตึง หรือฉีกขาด ซึ่งเกิดจาก 

  • การหกล้มที่ทำให้ข้อเท้าบิด
  • แรงกระแทกจากการกระโดดหรือหมุนตัว
  • การเดินหรือออกกำลังกายบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ
  • ถูกเหยียบหรือทับอย่างรุนแรงบริเวณข้อเท้า  
  • อุบัติเหตุ เช่น ตกบันได ก้าวพลาด ตกส้นสูง หรือ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกาย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเท้าพลิกหรือแพลง ได้แก่

  • การเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องกระโดด กลิ้ง หรือบิดเท้า เช่น บาสเกตบอล เทนนิส ฟุตบอล และการวิ่งเทรล
  • การเดินหรือวิ่งบนพื้นผิวที่ไม่เรียบหรือสภาพสนามที่ไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อข้อเท้าพลิกหรือแพลงได้
  • อาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าก่อนหน้า ทั้งที่เคยข้อเท้าแพลง ข้อเท้าพลิก หรือบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าแบบอื่น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะข้อเท้าจะพลิกหรือแพลงอีกครั้ง
  • สภาพร่างกายไม่ดี ข้อเท้ามีความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะข้อเท้าพลิกหรือแพลงเมื่อเล่นกีฬา
  • รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ไม่พอดีกับเท้า หรือไม่เหมาะกับกิจกรรม รวมถึงการสวมรองเท้าส้นสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนจากข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

การไม่รักษาข้อเท้าพลิกหรือแพลงอย่างเหมาะสม การทำกิจกรรมเร็วเกินไปหลังจากข้อเท้าพลิกหรือแพลง หรือข้อเท้าพลิกหรือแพลงซ้ำๆ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • อาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง
  • ความไม่มั่นคงของข้อเท้าเรื้อรัง
  • โรคข้อเท้าอักเสบ 
  • ข้อเสื่อม

การดูแลตนเองเบื้องต้นหากเกิดข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

การรักษาข้อเท้าพลิกหรือแพลงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ ซึ่งโดยทั่วไป หากอาการไม่รุนแรง อาจรักษาดูแลบรรเทาอาการด้วยตนเอง  ด้วยวิธีดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด กรณีรู้สึกปวดข้อเท้า  
  • พันรัดบริเวณข้อเท้าที่พลิกหรือแพลง เพื่อลดอาการบวม โดยไม่พันรัดรอบข้อเท้าจนแน่นเกินไป  
  • การพัก หรือหยุดใช้งานข้อเท้าบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ประมาณ 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วง 6 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ
  • ประคบเย็น ด้วยถุงน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นบริเวณข้อเท้าประมาณ 15-20 นาที จนกระทั่งไม่บวม และประคบซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือวันละ 2-3 ครั้ง กรณีผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรืออาการป่วยทางประสาทสัมผัสการรับรู้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน 
  • ยกข้อเท้าขึ้น เพื่อลดอาการบวม 
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก มีแรงกด หรือกระทบกระเทือนบริเวณข้อเท้า  

การป้องกันข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

เคล็ดลับที่สามารถช่วยป้องกันข้อเท้าพลิกหรือแพลง รวมถึงการเกิดข้อเท้าพลิกหรือแพลงซ้ำๆ ได้ ดังนี้

  • อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสมอ
  • ระมัดระวังในการเดิน วิ่ง หรือทำงานบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ
  • ใช้ผ้าพยุงข้อเท้าหรือเทปพันข้อเท้าที่เคยได้รับบาดเจ็บ 
  • สวมรองเท้าที่พอดีและออกแบบมาเพื่อกิจกรรมอย่างเหมาะสม
  • งดการสวมรองเท้าส้นสูง
  • หลีกเลี่ยง หรือเพิ่มความระมัดระวังในเล่นกีฬาหรือร่วมทำกิจกรรมที่ไม่ถนัด
  • รักษาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ 
  • ฝึกการทรงตัว  และ ฝึกการรักษาสมดุลของร่างกาย

การรักษาข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง

กรณีข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลงไม่รุนแรง เส้นเอ็นบาดเจ็บและฉีกเพียงเล็กน้อย ร่างกายสามารถซ่อมแซมเส้นเอ็นที่เสียหายและอาการปวดข้อเท้าได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หากหลังเกิดการบาดเจ็บ 1 เดือน แต่ยังมีอาการปวดอยู่ หรือข้อเท้าพลิก 3 เดือน แล้วอาการยังไม่หาย หรือมีการบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนอื่นร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความรุนแรง โดยแพทย์จะทำการรักษาอย่างเหมาะสม  ดังนี้

  • ใช้อุปกรณ์ช่วย นอกจากการใช้ผ้ายืดพันยึดรอบข้อเท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์แบบสวมพยุงข้อเท้า (Brace) หรือไม้เท้าช่วยพยุง 
  • การบำบัด หลังอาการปวดบวมหายไป ผู้ป่วยอาจต้องฝึกออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะบริหารบริเวณข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของเอ็น  นอกจากนี้การฝึกทรงตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน
  • การทำหัตถการ กรณีอาการปวดบวมไม่บรรเทาลง ผู้ป่วยอาจต้องใส่เฝือกดามบริเวณข้อเท้า จนกว่าอาการจะดีขึ้นและกลับมาเดินได้ตามปกติ
  • การผ่าตัด กรณีอาการรุนแรง หรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด  เช่น การผ่าตัดส่องกล้องบริเวณกระดูกหรือกระดูกอ่อนที่อาจเกิดการแตกหักหรือเสียหาย การผ่าตัดรักษาเส้นเอ็นที่ยึดตึงและ เสียหาย โดยนำเอ็นข้อต่อหรือเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงมาซ่อมแซมเอ็นเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหาย หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ซึ่งควรดูแลตนเองและพักฟื้นร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์และพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจและติดตามผล รวมถึงรับการบำบัด และบริหารกล้ามเนื้อเส้นเอ็นส่วนต่างๆ เพื่อรักษาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?