เมื่อผู้สูงอายุ เบื่ออาหาร

เมื่อผู้สูงอายุ เบื่ออาหาร

Highlight:

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดในผู้สูงอายุ ทำให้การผลิตน้ำลายลดลง ส่งผลให้มีปัญหาในการคลุกเคล้าอาหารและการกลืนที่ลำบากมากขึ้น เสี่ยงต่อการสำลัก  
  • หากผู้สูงอายุเบื่ออาหารและรับประทานได้น้อยเป็นเวลานาน จะส่งผลให้  ติดเชื้อง่ายขึ้น ขาดเกลือแร่และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย บางรายถ้าขาดสารอาหารมากอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเช่น ตะคริว ซึม หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียชีวิตได้
  • สารอาหารและอาหารเสริมบางชนิดอาจช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เช่น Zinc, thiamine, น้ำมันปลา การรับประทานอาหารเสริมควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์  

ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

  1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย 
    เช่น ผู้สูงอายุมีการผลิตน้ำลายลดลง ส่งผลให้มีปัญหาในการคลุกเคล้าอาหารและการกลืนที่ลำบากมากขึ้น เสี่ยงต่อการสำลัก ส่วนใหญ่เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา นอกจากนี้การหลุดร่วงของฟันและปัญหาฟันผุที่เพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีปัญหาการเคี้ยวและย่อยอาหาร อีกทั้งผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงการรับรสสัมผัส เช่น การได้กลิ่นและรับรสที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้อรรถรสในการรับประทานอาการลดลงและไม่เจริญอาหาร การเปลี่ยนแปลงสรีรวิทยาของระบบทางเดินอาหารพบว่าผู้สูงอายุจะใช้ระยะเวลาในการย่อยอาหารมากขึ้น ส่งผลให้อาหารคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานทำให้ความอยากอาหารในมื้อต่อไปลดลง นอกจากนี้อาการท้องผูกซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุก็มีส่วนในการลดความอยากอาหารเช่นกัน
  2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน 
    เช่น ฮอร์โมนกรีลิน (ghrelin) ที่ลดลง ฮอร์โมนคอเลสโตไคนิน คอเลซิสโทไคนิน (cholecystokinin) และเลปติน (leptin) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความอยากอาหารของผู้สูงอายุลดลง
  3. ปัญหาภาวะทางกายและการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 
    ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย โรคตับ พาร์กินสัน และมะเร็ง โรคเหล่านี้มีการหลั่งสารก่อการอักเสบ รวมถึงยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคมีผลทำให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียนหรือลดความอยากอาหารโดยตรง เช่น ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยาต้านโรคพาร์กินสัน ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาไมเกรน ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมัน ยาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาไทรอยด์ ยาต้านเศร้า ยาโรคจิตเภท ยานอนหลับ ยาขยายหลอดลม และยาแก้อักเสบ 
  4. ความต้องการสารอาหารของร่างกาย ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องนำไปใช้ 
    ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง มีมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง สัดส่วนของไขมันที่เพิ่มมากขึ้น สาเหตุเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความอยากอาหารที่ลดลงในผู้สูงอายุ
  5. ทางด้านจิตประสาท เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ 
    ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า และการรู้คิดบกพร่อง เช่น ภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยอยู่คนเดียวลำพังต้องประกอบอาหารหรือรับประทานอาหารคนเดียว อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารลดลง

ผลกระทบจากการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุ

หากผู้สูงอายุเบื่ออาหารและรับประทานได้น้อยเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกาย ได้แก่ ติดเชื้อง่ายขึ้น การรู้คิดที่ถดถอย ขาดเกลือแร่และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งบางรายถ้าขาดสารอาหารมากอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเช่น ตะคริว ซึม หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยมักทำได้ยากเนื่องจากความอยากอาหารโดยปกตินั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ต้องอาศัยการสังเกตของผู้ดูแลหรือบุคคลใกล้ชิด อย่างไรก็ตามมีแบบทดสอบซึ่งจะสอบถามถึงความอยากอาหารของผู้สูงอายุที่สามารถทำได้ง่าย (simplified nutritional appetite questionnaire-SNAQ) โดยจะซักถามถึงความอยากอาหารว่ามาก-น้อยอย่างไร รู้สึกอิ่มเร็วเพียงใดหลังเริ่มรับประทานอาหาร รู้สึกว่าอาหารรสชาติดีหรือแย่อย่างไร และจำนวนมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน 

เมื่อผู้สูงอายุเบื่ออาหารควรดูแลอย่างไร

สาเหตุของการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุมีหลายสาเหตุ การดูแลภาวะเบื่ออาหารควรเริ่มต้นจากการหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ ดังนี้

  • เลือกอาหารที่มีขนาดชิ้นเล็ก รับประทานง่าย เนื้อสัมผัสนิ่ม ละเอียด เป็นเนื้อเดียวกัน มีความชุ่มน้ำ ทั้งนี้การเลือกอาหารที่เหมาะสมต้องสอดคล้องกับภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุการเบื่ออาหาร 
  • สร้างตารางการรับประทานอาหารให้เป็นเวลาที่แน่นอนเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ
  • อาการปากแห้งจากการผลิตน้ำลายลดลง แนะนำให้ผู้สูงอายุจิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่แห้งและแข็ง หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนการสร้างน้ำลายในรายที่น้ำลายลดลงมาก
  • หมั่นตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก 6 เดือนหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หากมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือการเคี้ยวควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาหรือใส่วัสดุ ฟันปลอม เพื่อช่วยในการเคี้ยว
  • รักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก อาการปวด
  • หากผู้สูงอายุได้กลิ่นและรสลดลง การปรุงอาหารเพื่อให้มีกลิ่นและรสเด่นขึ้นตามที่ชอบอาจช่วยได้ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำการเพิ่มเกลือหรือน้ำตาลในอาหารโดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว อาจพิจารณาการเพิ่มพริกไทย สมุนไพร หรือเครื่องเทศ เพื่อชูกลิ่นและรสของอาหารแทน
  • เลือกอาหารที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมากในการรับประทานเนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์ เช่น มีด ส้อม ปรับให้เป็นอาหารที่รับประทานง่าย ใช้มือหยิบรับประทานได้ เช่น มันฝรั่งทอด ลูกชิ้น ผักหรือผลไม้ หั่นชิ้นพอดีคำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาซึมเศร้าหรือปัญหาด้านการรับรู้บกพร่อง ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์
  • การมีครอบครัวหรือคนใกล้ชิด หรือกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันร่วมรับประทานอาหารด้วยจะช่วยเพิ่มความอยากอาหารของผู้สูงอายุให้มากขึ้น

การป้องกันอาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ

การป้องกันนั้นอาจทำได้ยาก แต่การลดความเสี่ยงดังที่กล่าวมาจะช่วยลดข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร และเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้สูงอายุได้

อาหารเสริม และ อาหารทดแทน หากผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

หากผู้สูงเบื่ออาหารจากปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืน อาจแนะนำอาหารที่รับประทานง่าย เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม อาหารปั่น น้ำหรือนมปั่น ผักหรือผลไม้ปั่น แนะนำอาหารที่ให้พลังงานและมีประโยชน์ เช่น อะโวคาโด ไข่ กล้วย 

สารอาหารและอาหารเสริมบางชนิดอาจมีบทบาทช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เช่น Zinc, thiamine, น้ำมันปลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารเสริมควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ หากผู้สูงวัยรับประทานอาหารได้น้อยมากจนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนะนำอาหารทดแทน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?