ลองโควิด (Long COVID) ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19

ลองโควิด (Long COVID) ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions) หรือ ‘ลองโควิด’ (Long COVID) คือ อาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 4 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้การเจ็บป่วยครั้งแรกจะไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเลยก็ตาม
  • ภาวะลองโควิดอาจส่งผล ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS)  มีอาการไข้ ถ่ายเหลว ช็อก และไตวาย  ซึ่งมักพบอาการหลังหายป่วยโรคโควิด-19 แล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ 
  • ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ควรออกกำลังกายเบาๆ ให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง พบแพทย์หลังจากป่วยแล้วภายใน 1-2 เดือน และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อป้องกันตัวเองจากภาวะลองโควิด

แม้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์  แต่บางคนก็ประสบกับภาวะหลังโควิด-19  ด้วยอาการที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนนับจากการติดเชื้อครั้งแรก บางกรณีอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงอาการเดิมที่กลับกำเริบขึ้นมาอีกภายหลัง  ภาวะหลังโควิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แม้การเจ็บป่วยครั้งแรกจะไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยก็ตาม

Long COVID คืออะไร

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่าภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions) หรือ ‘ลองโควิด’ (Long COVID)  โดยประกาศให้ เป็นความทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้ทุพพลภาพชาวอเมริกัน (ADA) เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา   

ซึ่งผู้ป่วยลองโควิด พบว่ามีความผิดปกติทางสรีรวิทยาและระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต สำหรับความบกพร่องทางจิตนั้น รวมไปถึงความเครียด สะเทือนใจ และความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์

อาการลองโควิด (Long COVID)

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะลองโควิด แต่ในส่วนของลักษณะอาการแสดงนั้น มีดังนี้

  • หายใจลำบากหรือหายใจถี่
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • อาการแย่ลงหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ   
  • มีปัญหาในการคิด ขาดสมาธิ  
  • ไอ เจ็บหน้าอก
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
  • นอนไม่หลับ
  • มีไข้
  • ผื่นขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน
  • การได้กลิ่นหรือรับรสผิดเพี้ยน
  • ประจำเดือนไม่ปกติ

ผลข้างเคียงต่ออวัยวะและผลกระทบจากการรักษาโรคโควิด-19

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 จะส่งผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงภูมิต้านทานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ผลกระทบสามารถส่งผลแทรกซ้อนต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง และสมอง ทั้งนี้ยังส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นโจมตีเซลล์ที่มีสุขภาพดีในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดภาวะอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS)  ทำให้มีอาการไข้ ถ่ายเหลว ช็อก และไตวาย  ซึ่งมักพบอาการหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19  แล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์  

นอกจากนี้การเจ็บป่วยหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยรุนแรงที่ต้องรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก หรือห้องไอซียู (ICU) อาจเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ (Post-Intensive Care Syndrome: PICS)  กระทบต่อสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง  มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดและการตัดสิน รวมถึงภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาและฟื้นฟู

การรักษาภาวะลองโควิด

อาการจากผลกระทบหลังการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยเนื่องจากไวรัส หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตตัวเองหลังกลับจากโรงพยาบาล โดยปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกออกจากโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามอาการและผลกระทบที่มีต่อชีวิต ตรวจร่างกาย  อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ตรวจความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ เอกซเรย์ปอด ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจหาค่าการอักเสบของร่างกาย และอื่นๆ เพื่อทำการรักษาตามอาการอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพที่สุด 

กรณีอาการเจ็บป่วยส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ

การป้องกันภาวะลองโควิด

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะหลังโควิด-19  คือ การป้องกันโรคโควิด-19 โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19โดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยปกป้องคนรอบข้างได้อีกด้วย รวมถึงการที่ต้องระมัดระวังตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ให้ออกกำลังกายเบาๆ ไม่ออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ปอดทำงานหนัก ควรให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและมีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งนี้ ขณะออกกำลังกายควรสังเกต อาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยมากเกินไป แน่นหน้าอก ใจสั่น เวียนศีรษะ เหงื่อออกมากเกินปกติ หากมีอาการเหล่านี้ ควรหยุดออกกำลังกายทันที สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนออกกำลังกาย

จากสถานการณ์แพร่กระจายและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปทั่วโลก จะเห็นได้ว่า โรคโควิด-19 สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายให้กับผู้คน เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ อีกมาก พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากมายทั่วโลก ที่แม้หายป่วยแล้วยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงยังมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิด หรืออาการป่วยหลังหายจากโรคโควิด -19 ได้อีก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะและภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงสภาพจิตใจได้อย่างรุนแรงและยาวนาน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งอาการรุนแรง อาการน้อย หรือแม้แต่ไม่มีอาการเลยก็ตาม ควรหมั่นสังเกตตัวเอง และรีบพบแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติของสุขภาพร่างกาย รวมถึงพบแพทย์หลังจากป่วยโควิดแล้วภายใน 1-2 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เป็นการป้องกันตัวคุณเองจากภาวะลองโควิดนี้ได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?