ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องไม่ได้เกิดจากการแพ้เหมือนแพ้นมวัว เพราะการแพ้นมวัว คือ การแพ้โปรตีนในน้ำนมวัว แต่ที่เราเรียกว่าแพ้แล็กโทส สาเหตุจริงๆ เกิดจากความผิดปกติของลำไส้เล็กที่ไม่สามารถผลิตเอนไซม์แล็กเทสที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทสโดยเฉพาะได้เพียงพอ ไม่ได้เกิดจากการแพ้ ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสเป็นน้ำตาลที่พบในนมวัวรวมถึงนมแม่ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose intolerance)
ทั้ง 2 อย่างเป็นโรคทางระบบทางเดินอาหาร ที่อาการใกล้เคียงกันมาก จะมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง ได้เหมือนกันทั้งสองภาวะ แต่ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องจะมีอาการท้องอืดและแก๊สที่มากกว่า
ความแตกต่างอีกจุดหนึ่งคือ ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose intolerance) จะมีเฉพาะอาการทางระบบทางเดินอาหาร แต่อาการแพ้นมวัวจะสามารถเกิดได้หลายระบบ เช่น
หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจ มีน้ำมูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก มีเสมหะ หอบหืด นอนกรน อาจแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลันได้
เมื่อย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ ร่ายกายก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย เมื่อน้ำตาลไม่ถูกดูดซึมจะค่อยๆ ไหลตามทางเดินอาหาร และจะดูดน้ำเข้ามาในโพรงลำไส้กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายออกมาเป็นน้ำ และเมื่อมีน้ำตาลผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะย่อยและหมักน้ำตาล ทำให้เกิดกรดแลกติกขึ้น เวลาถ่ายอุจจาระก็จะมีกรดแลกติกปริมาณมาก ทำให้ผิวหนังโดยรอบเวลาที่เด็กถ่าย แดงและเจ็บได้
นอกจากนี้เมื่อแบคทีเรียย่อยน้ำตาลในลำไส้ใหญ่ก็จะสร้างแก๊สเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด มีลมเยอะ ผายลมบ่อย ถ่ายอุจจาระมีฟอง และเมื่อเด็กแน่นท้อง ปวดท้อง อาจทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อยลง
สังเกตได้จาก เด็กจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด จากการที่มีลมในท้องมากและจะผายลมบ่อย ส่วนใหญ่มักมีอาการภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังดื่มนม ถ้าเป็นมากอาจมีถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีฟองจากลม มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวอันเกิดจากกรดแลกติกซึ่งรอบๆ บริเวณที่ถ่ายจะแดงถ้าถ่ายเหลวมาก
การดูเบื้องต้นว่ามีภาวะนี้หรือไม่คือ ลองให้เด็กงดนมที่มีแล็กโทส ถ้าใช่อาการทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งจุดนี้อาจใช้แยกกับภาวะแพ้นมวัวได้ เพราะแพ้นมวัวก็อาจมาด้วยอาการเหมือนกัน คือ ปวดท้อง ท้องเสีย แต่เด็กที่แพ้นมวัว ถ้าให้กินนมวัวที่ไม่มีแล็กโทส อาการจะไม่หาย เพราะเด็กยังแพ้โปรตีนในนมวัว
จริงๆ อาการที่กล่าวมาอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการโดยตรง แต่อาจจะส่งผลทางอ้อม กล่าวคือ เมื่อเด็กท้องเสีย ดูดซึมอาหารไม่ดี ก็จะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี อาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จะทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางอ้อมได้เช่นกัน บางครั้งท้องอืดมาก เรอบ่อย ผายลมบ่อย เด็กก็จะเสียความมั่นใจได้
เด็กทารกบางคนอาจมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (primary lactase deficiency, adult type hypolactasia ) เนื่องจากเอนไซม์แล็กเทสจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 2 ปี และลดมากเมื่อโตขึ้น เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยอุบัติการณ์แตกต่างกันตามเชื้อชาติ ซึ่งพบได้มากในคนเอเชีย และการที่เด็กถ่ายเหลวรุนแรง ติดเชื้อ ขาดสารอาหาร หรือมีโรคที่ทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก เมื่อลำไส้เล็กถูกทำลายส่วนยอดของเยื่อบุผิวลำไส้ซึ่งเป็นบริเวณ ที่มีเอนไซม์แล็กเทสอยู่มาก ก็ทำให้ปริมาณเอนไซม์แล็กเทสลดลง ทำให้เกิดภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องชั่วคราวได้ (Secondary lactose deficiency)
การตรวจวิธีอื่นๆ ที่ไม่นิยมทำ อาทิ เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลกลูโคสก่อนและหลังรับประทานน้ำตาลแล็กโทส ตัดชิ้นเนื้อที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมาตรวจ ทดสอบระดับการทำงานของน้ำย่อยแล็กเทส ตรวจทางพันธุกรรมดูยีนที่ควบคุมการสร้างแล็กเทส
การรักษาหลักคือ ให้หลีกเลี่ยงน้ำตาลแล็กโทสในนม คือสามารถกินนมที่ไม่มีแล็กโทส ซึ่งเป็นข้อต่างกับเด็กที่แพ้นมวัว ที่จะให้เด็กกินนมวัวที่ไม่มีแล็กโทสไม่ได้ และควรงดอาหารที่มีนมที่มีน้ำตาลแล็กโทสเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต เค้ก ขนมปัง ที่จริงแล้ว ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องมีหลายระดับ บางคนขาดเอนไซม์แล็กเทสเพียงบางส่วน ก็สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสบางส่วนได้ หากรับประทานเพียงเล็กน้อยจะไม่เกิดอาการ
ดังนั้นแนะนำให้สังเกตว่าเด็กรับประทานได้ปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดอาการ โดยการที่รับประทานพร้อมมื้ออาหาร จะช่วยให้เอนไซม์แล็กเทสมีเวลาในการย่อยได้นานมากขึ้น หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารตอนท้องว่าง หรืออาจลองรับประทานครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ถ้าอาการไม่มาก บางครั้งอาจจะสามารถรับประทานนมเปรี้ยว โยเกิร์ตได้ เนื่องจากจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจะช่วยย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้บางส่วน
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่