โรคหัวใจ เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจควรรู้

โรคหัวใจ เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจควรรู้

็Highlight:

  • ผู้ที่มียีนโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอาจมีอาการของโรคหัวใจแต่กำเนิดได้ แต่บางรายอาจจะแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น
  • อาการของผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ คือ เป็นลมหรือหมดสติเมื่อออกกำลังหรือเมื่อมีความเครียดทางจิตใจ  มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะไขมันในเลือดสูงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • การตรวจยีนเพื่อหาความผิดปกติในปัจจุบันนั้นทำได้ไม่ยาก หากไม่ทราบความเสี่ยงของตัวเองก็อาจทำให้ไม่สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดที่มีความรุนแรงบางโรค อาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นมาก่อน แต่หากมีอาการอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีโรคอะไรบ้าง

แม้โรคหัวใจและหลอดเลือดจะเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด แต่ในบางส่วนอาจแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น โรคของหัวใจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มีดังนี้

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
  • โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (Cardiac amyloidosis)
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmias)
  • โรคเนื้องอกและมะเร็งหัวใจ (Cardiac tumor)
  • โรคลิ้นหัวใจ (Heart valve disease)
  • ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ที่อกโป่งพองหรือแตกที่มีส่วนจากพันธุกรรม (heritable thoracic aortic aneurysm or dissection-HTAD)
  • ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (hypercholesterolemia)
  • ภาวะความดันปอดสูงผิดปกติ (Pulmonary hypertension)
  • ภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome) เป็นต้น 

ยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคและภาวะต่าง ๆ มีดังนี้

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy-HCM) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน MYBPC3, MYH7, TNNT2, TNNI3, TPM1, ACTC1, MYL2, MYL3, CSRP3, TNNC1, JPH2
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน PLN, CACNA1C, DES, FHL1, FLNC, GLA, LAMP2, PRKAG2, PTPN11, RAF1, RIT1, TTR
  • โรคหัวใจห้องบนและห้องล่างขวาขยายขนาดแบบรุนแรง (Arrhythmogenic right ventricular cardiomyopathy-ARVC) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน DES, DSC2, DSG2, DSP, JUP, LMNA, PKP2, PLN, RYR2, SCN5A, TMEM43, TTN  และควรตรวจหายีนที่เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM) ด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายตัวผิดปกติ (Dilated cardiomyopathy-DCM) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TTN, LMNA, MYH7, TNNT2, BAG3, RBM20, TNNC1, TNNI3, TPM1, SCN5A, PLN และควรตรวจหายีนที่เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM) และ โรคหัวใจห้องบนและห้องล่างขวาขยายขนาดแบบรุนแรง (AVRC) ด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหดรัดผิดปกติ (Restrictive cardiomyopathy) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TTR และควรตรวจหายีนที่เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM) และ โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายตัวผิดปกติ(DCM) ด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายเจริญตัวผิดปกติ (Left ventricular noncompaction cardiomyopathy-LVNC) ควรตรวจหายีนที่เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติทั้งชนิด HCM และ DCM
  • ภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด long QT (Long-QT syndrome) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน KCNQ1, KCNH2, SCN5A
  • ภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด short QT (Short-QT syndrome) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน KCNH2, KCNQ1, KCNJ2
  • กลุ่มอาการบรูกาด้า (Brugada syndrome) ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคไหลตาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน SCN5A
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Catecholaminergic polymorphic ventricular tachycardia มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน RYR2, CASQ2
  • ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือแตกที่มีส่วนจากพันธุกรรม (heritable thoracic aortic aneurysm or dissection-HTAD) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน ACTA2, COL3A1, FBN1, MYH11, SMAD3, TGFB2, TGFBR1, TGFBR2, MYLK, LOX, PRKG1, EFEMP2, ELN, FBN2, FLNA, NOTCH1, SLC2A10, SMAD4, SKI
  • โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจากพันธุกรรม (familial hypercholesterolemia-FH) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน LDLR, APOB, PCSK9
  • โรคเนื้องอกหัวใจชนิดไม่รุนแรง (Benign cardiac tumor) 
    • ชนิด Cardiac myxomas มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน bFGF, FGFR, SOX9, NOTCH1, NFATc1, THBD, CALB2, MIA, PLA2G2A, PLTP, MUC1, IL6 and α1-globulin, plakophilin-2, PRKAR1A, KRAS, HAND, MUC1, MUC2, MUC5A3, PRO MMP9, PRO-MMP2, VEGF, MT1-MMP, eHAND, GATA4, NKX2.5, MMP1, MMP2, SMAD6, HOX, MYOD, SOX4-6, S100A1, TGF, IL-6, FGFR1, VEGF, PCNA, FGFβ, VEGFR1, VEGFR2
    • ชนิด Papillary myxomas มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน MMP1, MMP2, MMP9, K-RAS, TP53, PTCH GENE
    • ชนิด Cardiac rhabdomyomas มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TSC1, TSC2
  • โรคมะเร็งหัวใจชนิดรุนแรง (Malignant cardiac tumor) 
    • ชนิด Angiosarcoma มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน KDR, KIT, CDKN24, PLCG1, PTPRB, P53, TP53, POT1, MYC, KRAS, FLT4
    • ชนิด Rhabdosarcoma มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TP53, PIK3CA, CTNNB1, FGFR4, BCOR, FBXW7, KRAS, PAX, NRAS
    • ชนิด Cardiac osteosarcoma มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TP53, RB1, MDM2, CDKN2A
    • ชนิด Leiomyosarcoma มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน TP53, ATM, ATRX, RB1, MDM2, KIT, JUN, CDK4, RASSF1A, MED12
    • ภาวะความดันปอดสูงผิดปกติ (Pulmonary hypertension) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน BMPR2, ALK1, Endoglin, SMAD9, CAV1, KCNK3, EIF2AK4 (GCN2)
    • กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome) มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน FBN1

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากพันธุกรรม

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดจากพันธุกรรม และอาจได้ประโยชน์จากการตรวจยีนเพิ่มเติม มีดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด 
  • ผู้มีภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
  • มีประวัติหัวใจหยุดเต้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นลมหรือหมดสติเมื่อออกกำลัง หรือเมื่อมีความเครียดทางจิตใจ
  • ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่มีภาวะหัวใจวาย 
  • ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี ที่ต้องได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • มีภาวะหัวใจโต
  • มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีภาวะหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยอายุน้อย (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) 
  • มีหลอดเลือดแดงที่หน้าอกโป่งพอง ขณะที่อายุน้อยกว่า 55 ปี
  • มีประวัติทารกเสียชีวิตกะทันหัน (Sudden infant death syndrome-SIDS) ในครอบครัว 
  • มีภาวะไขมันในเลือดสูงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา (ระดับ LDL สูงกว่า 190 mg/dL เมื่อไม่ได้รับประทานยา)
  • มีพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ หรือลูกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือได้รับการตรวจว่ามียีนผิดปกติ
  • มีพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ หรือลูกที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือเสียชีวิตกะทันหัน โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี 

การตรวจหาความผิดปกติของยีนโรคหัวใจ มีแบบใดบ้าง มีความแตกต่างกันอย่างไร

  • การตรวจยีนแบบ medical grade คือการตรวจยีน ที่ทำการสั่งตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล ซึ่งจะมีวิธีการตรวจที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยจะศึกษายีนที่เกี่ยวข้องและให้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้รับการตรวจได้รับการวินิจฉัยว่ามีหรือไม่มีโรคพันธุกรรม หรือความเสี่ยงที่ต้องทำการตรวจ หลังจากนั้นจะมีการแปลและอธิบายผลอย่างครอบคลุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 
  • การตรวจยีนแบบ direct-to-consumer grade คือการตรวจด้วยชุดตรวจที่บุคคลทั่วไปสามารถสั่งและตรวจเองได้จากที่บ้าน อาจไม่มีมาตรฐานของการเก็บตัวอย่างและการตรวจ จะศึกษายีนบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงและผลการตรวจ ส่วนมากจะระบุเพียงว่ามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะหรือโรคนั้น ๆ หรือไม่ โดยการแปลและอธิบายผลอาจไม่ได้ทำโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้ครอบคลุมการตรวจทั้งหมด ในบางกรณี หากพบความผิดปกติจากการตรวจแบบยีนแบบ direct-to-consumer จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธี medical grade เพื่อยืนยันก่อนจะนำผลตรวจมาใช้ทางการแพทย์

ตรวจยีนแล้ว หากมีความเสี่ยง จะป้องกันได้จริงหรือไม่

การตรวจยีนในบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะใดก็อาจจะแนะนำการปรับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้น และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการตรวจและแปลผลอาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่ามีภาวะหรือโรคที่มีความเสี่ยงหรือไม่

หากตรวจพบยีนที่ผิดปกติในคู่หนุ่ม สาว ที่กำลังจะแต่งงาน จะทำการตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์และทำการคัดเลือกตัวอ่อนที่มียีนที่สมบูรณ์ ไม่มีความผิดปกติไว้ และใช้เทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์ช่วยนำตัวอ่อนที่แข็งแรงและสมบูรณ์กลับเข้าไปยังมดลูกเพื่อการเจริญเติบโตต่อไป 

หากไม่รู้ความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรมของตัวเองจะมีผลเสียอย่างไร

หากไม่ทราบความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรมของตัวเองก็อาจทำให้ไม่สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดที่มีความรุนแรง บางโรคอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นมาก่อน แต่หากมีอาการอาจทำให้เสียชีวิตในทันที รวมถึงในคู่สมรสที่มีความเสี่ยง หากไม่ทราบความเสี่ยงก็อาจทำให้ลูกที่เกิดมามีความผิดปกติ ซึ่งหากตรวจพบหลังการคลอดก็อาจสายเกินไป

เปรียบเทียบยีนโรคหัวใจ ผู้ที่มียีนปกติ และ ยีนผิดปกติ มีความแตกต่างกันอย่างไร

  1. ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
    • ผู้ที่มียีน ปกติ
      • อายุที่มากขึ้น 
      • การติดเชื้อบางชนิด 
      • ลักษณะการใช้ชีวิต 
      • อาหารที่รับประทาน 
      • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
      • การสูบบุหรี่ 
      • โรคประจำตัวร่วมอื่น ๆ
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ
      มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากผู้ที่ไม่มียีนผิดปกติ โดยการได้รับปัจจัยเพียงเล็กน้อยก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้ 
  2. อายุที่มักพบโรค เช่น โรคหัวใจ เป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
    • ผู้ที่มียีน ปกติ : ภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยทั่วไปพบเมื่อมีอายุมากหรือเมื่อมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย ความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดอาจพบได้ในผู้อายุน้อย หัวใจเต้นผิดจังหวะพบได้ในทุกช่วงอายุ
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ: พบภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจในผู้ป่วยที่อายุน้อยได้
  3. ความรุนแรงของโรค
    • ผู้ที่มียีน ปกติ : ขึ้นอยู่กับโรค ส่วนใหญ่มักมีปัจจัยกระตุ้น หากปัจจัยกระตุ้นรุนแรงก็ทำให้มีความรุนแรงของโรคมาก
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ : ความรุนแรงของโรคไม่ขึ้นกับปัจจัยกระตุ้น บางครั้งมีปัจจัยกระตุ้นเพียงเล็กน้อยหรือแม้กระทั่งไม่มีปัจจัยกระตุ้นเลยก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นนและเสียชีวิตได้
  4. การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ความถี่ในการตรวจ และช่วงอายุ
    • ผู้ที่มียีน ปกติ : ส่วนใหญ่มักตรวจเมื่อมีอาการ หรือตรวจคัดกรองเมื่อมีอายุมาก
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ : แนะนำให้ตรวจในช่วงอายุน้อยกว่าสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในยีนที่ผิดปกติ และอาจต้องมีการตรวจคัดกรองที่ถี่กว่าบุคคลที่ไม่มียีนผิดปกติ
  5. การรักษา
    • ผู้ที่มียีน ปกติ : ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ : ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง
  6. การป้องกัน
    • ผู้ที่มียีน ปกติ : ป้องกันตัวเองโดยทั่วไป รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงลักษณะการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น
    • ผู้ที่มียีน ผิดปกติ : นอกเหนือจากการป้องกันตัวเองโดยทั่วไป แพทย์อาจแนะนำการใส่เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อป้องกันหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในบางโรคที่มีความรุนแรงเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?