- การเดินทางโดยเครื่องบินมีความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอยภัยสูง แต่ระหว่างโดยสารเครื่องบินอาจเกิดผลกระทบเล็กน้อย เช่น รู้สึกไม่สบายหู เจ็ตแล็ก และภาวะขาดน้ำ หรืออาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง หรือทำให้การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในบางคนได้
- อากาศภายในห้องโดยสารของเครื่องบินมักแห้งและมีความดันต่ำ ทำให้น้ำจากผิวหนังและระหว่างการหายใจระเหยเร็วขึ้น หากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำให้เพียงพอ แม้ไม่รู้สึกหิวน้ำก็ตาม
- โรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบิน เช่น ผู้ป่วยโรคปอดบวม โรควัณโรคปอด ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ , หญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง และพกยาประจำตัวให้เกินจากจำนวนที่ต้องใช้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการบิน แสดงให้เห็นว่าการโดยสารเครื่องบินมีความปลอดภัยกว่าการขับรถหลายเท่า ในปี 2023 ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียวจากเที่ยวบินของสายการบินพาณิชย์จำนวน 37 ล้านเที่ยวบิน แต่ความกังวลกลับอยู่ภายในห้องโดยสารมากกว่า เนื่องจากภาวะภายในห้องโดยสารที่มีระดับความดัน อุณหภูมิ ออกซิเจนที่ผันผวน และระดับความชื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้การอยู่ภายในห้องที่ระบบอากาศปิดกับผู้คนอีกนับร้อย และต้องเดินทางผ่านเขตเวลาในการบินระยะไกล ต่างมีผลกระทบต่อความเจ็บป่วยได้เช่นกัน
ในบางคนระหว่างโดยสารเครื่องบินอาจเกิดผลกระทบกับร่างกายเล็กน้อย เช่น รู้สึกไม่สบายหู เจ็ตแล็ก และภาวะขาดน้ำ แต่บางคนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง หรือทำให้การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep vein thrombosis: DVT) แม้อาการจะไม่รุนแรงในเบื้องต้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดและเสียชีวิตได้