ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

HILIGHTS:

  • การตรวจ MRI หัวใจ เป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ไม่ใช้รังสีเอกซ์หรือสารรังสีในการตรวจ
  • การตรวจ MRI หัวใจ ช่วยตรวจปัญหาต่างๆ ในหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ และจะช่วยประเมินความเสียหายของหัวใจ สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องทำการผ่าตัดและยังช่วยแพทย์วางแผนการรักษาโรคหัวใจได้อีกด้วย

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI หรือ ตรวจ MRI หัวใจ เป็นการถ่ายภาพหัวใจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพ ช่วยตรวจปัญหาในห้องหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และยังช่วยประเมินการไหลเวียนของเลือดในหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI) ช่วยวินิจฉัยโรคอะไรได้บ้าง?

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางหลอดเลือดและหัวใจ ดังต่อไปนี้
หาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก ปวดเค้นในอก หายใจลำบาก

  • โรดหัวใจล้มเหลว
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตก โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด
  • โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด พร้อมทั้งตรวจดูผลการผ่าตัดซ่อมหัวใจว่าได้ผลหรือไม่
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัดหัวใจ
  • โรคทางกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา เนื้องอกในหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว 
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว

ทำไมต้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

  • ตรวจเพื่อประเมินความเสียหายของหัวใจ หลังจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือประเมินบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • ตรวจเพื่อระบุตำแหน่งที่ต้องทำการผ่าตัดด้วยการจี้ด้วยความร้อน
  • ตรวจเพื่อวางแผน หรือประเมินผลการรักษาโรคหัวใจ

ขั้นตอนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

ก่อนตรวจ

  • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ 
  • กรณีที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด หรือมีเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ภายในร่างกาย ไม่ควรขับรถเอง ควรมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาด้วย ในวันที่เข้ารับการตรวจ 
  • ผู้ที่กลัวที่แคบ สามารถแจ้งแพทย์เพื่อหาแนวทางการตรวจร่วมกัน

ระหว่างตรวจ 
ผู้รับการตรวจต้องนอนหงายบนเตียงที่เคลื่อนที่เข้าไปในเครื่อง MRI แพทย์อาจทำการฉีดสารทึบรังสีผ่านหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้ถ่ายภาพเนื้อเยื่อและหลอดเลือดหัวใจได้คมชัด ขณะที่เครื่องทำการส่งคลื่นวิทยุไปยังบริเวณหน้าอก ผู้รับการตรวจควรนอนนิ่งๆ เพื่อให้ภาพถ่ายคมชัดยิ่งขึ้น โดยจะใช้เวลาประมาณ 30-90 นาที

หลังตรวจ
แพทย์จะทำการนัด เพื่ออธิบายผลการตรวจ ปกติแล้วหลังการตรวจ ผู้รับการตรวจสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่อาจรู้สึกขมในปาก บางรายอาจรู้สึกคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะจากการฉีดสารทึบรังสีได้ 

ข้อดีของการตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้านำมาใช้เพื่อการประเมินและวินิจฉัยโรคได้ดังต่อไปนี้ 

  • ประเมินโครงสร้างทางกายวิภาค การทำงาน และพยาธิสภาพของหัวใจแต่ละส่วน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ความผิดปกติของหลอดเลือด เป็นต้น
  • วินิจฉัยโรคติดเชื้อและการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) เช่น การอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจ
  • ประเมินความเสียหายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) เช่น การถูกจำกัดการไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือแผลเป็นบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจหลังเกิดหัวใจวาย (Heart Attack)
  • วางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ติดตามประเมินความก้าวหน้าของโรค
  • ประเมินโครงสร้างทางกายวิภาคภายในหัวใจและการไหลเวียนเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ประเมินการเปลี่ยนแปลงหลังผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ประเมินโครงสร้างทางกายวิภาคภายในหัวใจและการไหลเวียนเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ยังสามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคร่วมกับผลของการตรวจเอกซเรย์ (X-ray) หรือผลของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือในบางครั้งสามารถเลือกใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าสู่ร่างกาย และในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้

ข้อจำกัดการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

  • สตรีมีครรภ์
  • คนที่มีอวัยวะเทียมเป็นโลหะหนักภายในร่างกาย ได้แก่ ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant)  คนที่มีเส้นเลือดโป่งพองแล้วได้รับการผ่าตัดใส่คลิปหนีบโลหะ  คนที่ใส่ขดลวดในหลอดเลือดโคโรนารีไม่เกิน 8 สัปดาห์ และคนที่มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • คนที่ไม่สามารถนอนราบได้
  • คนที่เป็นโรคกลัวที่แคบ
  • คนที่มีโลหะฝังอยู่ในแก้วตา
  • คนทีมีตะกั่วฝังอยู่ในร่างกาย
    ถ้าไม่มีข้อห้ามที่กล่าวมา การตรวจ MRI หัวใจถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัยและไม่เจ็บปวด

ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพคัดกรองโรคหัวใจ หรือแนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อปรึกษา พร้อมตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?