10 แนวทางป้องกันโรคนิ้วล็อค

10 แนวทางป้องกันโรคนิ้วล็อค

เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้มีการติดขัดหรือเจ็บหรือนิ้วติดเวลามีการใช้งานหรือ ขยับนิ้ว ซึ่งเมื่อเรางอนิ้ว กำมือแล้วพยายามเหยียดนิ้วออก อาจจะทำให้เกิดเสียงหรือเกิดความรู้สึกดังป็อบได้ครับ หรือในกรณีที่เป็นมากๆ อาจจะทำให้เหยียดนิ้วมือออกไม่ได้เลยก็เป็นได้

โรคนี้พบได้ทุกนิ้วของมือรวมทั้งนิ้วโป้ง พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-60 ปี มักพบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วยนะครับ โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้าน การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การยกของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้  หรือการทำงานเจาะถนนเจาะสว่าน เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้อุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้พบได้มากขึ้น เช่นในกลุ่มคนที่ใช้มือหรือนิ้วมากกว่าคนทั่วไปเป็นประจำ เช่น นักพิมพ์ดีด นักตกแต่งสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือ แม่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่างร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือโรครูมาตอยด์ ก็จะพบอุบัติการณ์ของโรคนิ้วล็อคสูงขึ้นได้เช่นกัน

ลักษณะอาการ อาจจะมีอาการได้หลายลักษณะเช่น

  • มีก้อนเจ็บที่ฝ่ามือ
  • มือบวม
  • มีเสียงหรือความรู้สึก”ป็อบ”เวลาขยับหรือใช้งานนิ้วมือ
  • ปวดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว
  • มีความรู้สึกข้อนิ้วมือยึดแข็งติด โดยเฉพาะหลังตื่นนอน
  • ปวดมากจนงอนิ้วมือไม่ได้
  • ในรายที่เป็นมากๆอาจจะทำให้นิ้วมือล็อกอยู่ในท่างอตลอดเวลา ต้องใช้มืออีกข้างในการช่วยแกะเพื่อให้นิ้วมือเหยียดออกมาได้ หรือถ้าปล่อยให้เป็นมากไปนานๆ อาจจะทำให้เหยียดนิ้วออกเองไม่ได้เลย

อาการอาจจะแบ่งง่ายๆเป็น 3 ระยะ คือ 

  1. ระยะแรก ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า
  2. ระยะที่สอง เริ่มมีอาการสะดุด และจะปวดมากขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว
  3. ระยะที่สาม มีอาการติดล็อค โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

การรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆคือ

  1. การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด
  • หยุดพักผ่อน ในกรณีที่อาการเป็นไม่มากหรือเป็นน้อย อาจจะใช้วิธีการพักการใช้นิ้วมือเพื่อทำให้การอักเสบลดลง
  • การรับประทานยา อาจจะใช้ยากลุ่มลดการอักเสบของเนื้อเยื่อเช่นยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS) เพื่อให้การอักเสบลดลงเร็วยิ่งขึ้น
  • การฉีดยา โดยทั่วไปจะเป็นการฉีดยา Steroid เข้าไปในตำแหน่งที่มีการอักเสบโดยตรงบริเวณโคนนิ้วมือ เป็นการรักษาแบบชั่วคราว และข้อจำกัดก็คือ ไม่ควรฉีดยาเกิด 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค
  • การดูแลและควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่นในคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลไปด้วย
  • การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การใช้เครื่องดามนิ้วมือ การนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบ และการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว
  1. การรักษาโดยใช้การผ่าตัด โรคนิ้วล็อคไม่ใช่โรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงหรือเป็นมากขึ้นจนทนไม่ได้ และผู้ป่วยยินยอมให้ผ่าตัด

การผ่าตัดจะดีที่สุดในแง่ที่จะทำให้โรคไม่กลับมาเป็นใหม่ที่นิ้วที่ได้รับ การผ่าตัด หลักในการผ่าตัด คือ เป็นการผ่าตัดเฉพาะที่ โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงการใช้งานหนักของนิ้วมือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดูแลไม่ให้แผลเปียกน้ำ ไม่จำเป็นต้องทำแผลทุกวันถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

การป้องกัน

  1. ไม่หิ้วของหนัก เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ ถ้าจำเป็นต้องหิ้ว ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้
  2. ไม่ควรบิดหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ
  3. นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ และไม่ควรไดร์กอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  4. เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำหรือบดเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น
  5. ชาวสวนควรระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร หรืออื่นๆ ที่ใช้แรงมือควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น
  6. คนที่ยกของหนักๆ เป็นประจำ เช่นคนส่งน้ำขวด ถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้านุ่มๆ มารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก
  7. หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานานๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว
  8. งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที
  9. ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น  
  10. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่มีอาการเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?