เมื่อพูดถึงโรค "ไส้เลื่อน" หลายคนคงนึกถึงภาพผู้ชายกับก้อนเนื้อปูดนูนบริเวณขาหนีบ หัวเหน่า ตรงอวัยวะเพศ แต่ในความเป็นจริง ไส้เลื่อนเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
และน่าตกใจที่พบว่า เด็กทุกวัย ทั้งชายและหญิงก็เป็นโรคไส้เลื่อนเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง รวมถึงในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
ไส้เลื่อนในเด็ก คือ ภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้อง มีการเคลื่อนตัวดันผ่านกล้ามเนื้อหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบจนเห็นเป็นก้อนเนื้อนูนออกมา ซึ่งจะเป็นอันตรายมากหากลำไส้หรืออวัยวะเคลื่อนออกมาติดคาในพื้นที่จำกัดของขาหนีบ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวเสียหายเนื่องจากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงได้
เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อนสามารถสังเกตได้จาก มีก้อนเนื้อนูนออกมาบริเวณขาหนีบ ใกล้อัณฑะ หรือ หัวเหน่า เห็นได้ชัดเจน หากมีการเบ่งอุจจาระ หรือร้องไห้ ซึ่งก้อนนูนอาจยุบลงหากใช้มือดันหรือในช่วงที่เด็กนอนหลับ
ในกรณีที่ ไส้เลื่อนติดคาบริเวณขาหนีบ ก้อนนูนจะไม่ยุบหายไป ทำให้เด็กร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งบ่งบอกว่าเด็กมีภาวะลำไส้อุดตัน
การผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นการรักษาไส้เลื่อนที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นเพียงการผ่าตัดปิดช่องผนังหน้าท้องส่วนที่อวัยวะเคลื่อนตัวออกมาเท่านั้น จึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะไม่ใช่การผ่าตัดเปิดช่องท้องหรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะที่มีปัญหา
นอกจากนี้ยังใช้เวลาผ่าตัดไม่นานเพียง 30 – 45 นาที
หากเด็กฟื้นตัวได้เร็วก็สามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียว ยกเว้นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กอายุไม่ถึง 3 เดือน หรือในเด็กที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังผ่าตัดต่ออีก 1 – 2 วัน เพราะต้องคอยดูแลอาการแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองมีความกังวลเรื่องการผ่าตัดในเด็กเล็กมากเกินไป หรือมองข้ามอาการ ไส้เลื่อนในเด็ก จนละเลยการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา ซึ่งถือเป็นกรณีที่อันตราย เพิ่มความยุ่งยากต่อการรักษา และเด็กๆ อาจเสียชีวิตในที่สุด
เมื่อพ่อแม่สงสัยว่าลูกเป็นไส้เลื่อน ควรรีบพบศัลยแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีกุมารศัลยแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดรักษาเด็กโดยเฉพาะ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่