ไขคำตอบอาการปวดเต้านม

ไขคำตอบอาการปวดเต้านม

คนทั่วไปมักไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่สนใจตรวจสุขภาพตนเอง เมื่อมีอาการปวดเต้านมมักจะตื่นตระหนกตกใจมาพบแพทย์ บางครั้งตกใจมาก กลัวมากจนไม่ฟังอะไรเลย จริงๆ แล้วอาการปวดเต้านมมักพบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วไป โดยมากมักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกรอบเดือนเป็นได้ จนหมดประจำเดือนไปแล้ว ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายอยู่ หรือในบางคนตัดมดลูกและรังไข่ไปแล้วก็มีอาการได้ ทำให้บางคนยิ่งคิดว่าน่าจะเป็นอาการของมะเร็งได้ จริงๆ แล้วร่างกายยังผลิตฮอร์โมนได้จากต่อมหมวกไต มีอาการคล้ายมีประจำเดือนเต้านมคัดได้ ถ้าสังเกตดีๆ รอบการปวดเต้านมอาจไม่ปกติ อาจนานกว่ารอบเดือนปกติได้ อาการเหล่านี้ถ้าปวดไม่มาก อาจไม่ต้องรักษาหายได้เอง นอกจากปวดมากๆอาจต้องใช้ยาช่วยบางคนเป็นมากอาจต้องใช้ ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน จริงๆแล้วมะเร็งเต้านมมักไม่เจ็บ จนคนไข้บางคนปล่อยจนเป็นก้อนขนาดใหญ่มากจนแตกเป็นแผลถึงมาโรงพยาบาล และให้เหตุผลกับแพทย์ว่ามันไม่เจ็บ ไม่คิดว่าจะเป็นอะไรมากจึงได้ไม่มาพบแพทย์ อาการของมะเร็งจริงๆ แล้ว มักไม่มีอาการนอกจากเราคลำพบก้อน ซึ่งต้องแยกจาก ถุงน้ำและก้อนเนื้องอกธรรมดา ถุงน้ำมักจะเป็นก้อนโตไว เป็นวัน 2-3 วัน ก็โตแล้ว อีกทั้งมักจะเจ็บ ถุงน้ำธรรมดาไม่มีอันตรายนอกจากเป็นเนื้องอกชนิดที่ถุงน้ำร่วมด้วย อาการอื่นๆที่ควรพบแพทย์ เช่น มีน้ำออกจากหัวนม ผิวหนังแดงและอาจไม่เจ็บ หรือเป็นแผลเรื้อรังไม่หาย หรืออาจสังเกตได้ว่าลักษณะเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นมีรอยบุ๋มของผิวนม หัวนมถูกดึงรั้งลงไปผิดรูปจากเดิม อย่างไรก็ตามการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือเข้ารับการตรวจเต้านมด้วยเครื่องอย่างสม่ำเสมอทุกรอบเดือนโดยเฉพาะหลังมีประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน จะช่วยให้ตรวจพบโรคและมาพบแพทย์ได้เร็ว

วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองแบบง่ายๆ

ให้เริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึงแล้ว ความผิดพลาดจะน้อยลง โดยเริ่มจากการยืนหน้ากระจก เพื่อดูความผิดปกติของเต้านมในท่าห้อยแขน ยกแขน และเอามือเท้าสะเอว อย่าลืมใช้นิ้วมือรีดบริเวณฐานนมไปหาหัวนมเพื่อดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ จากนั้นจึงใช้ส่วนปลายของฝ่านิ้วมือ 3 นิ้ว คือ ชี้ กลาง นาง กดคลำและคลึงให้ทั่วเต้านม ในท่านอน และท่ายืน (แนะนำให้ใช้สบู่หรือโลชั่นช่วย เพื่อให้การคลึงและคลำทำได้สะดวกขึ้น)

checkBeast-myself

สิ่งที่ควรดูขณะอยู่หน้ากระจก

ดูขนาด ลักษณะ รูปร่าง ลักษณะของผิวและสีผิวเต้านม หากสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์

  • มีก้อนนูน
  • บวม แดง ร้อน
  • ขนาดหรือรูปร่างเต้านมผิดปกติไป
  • มีการบุ๋มหรือบอดของหัวนม (หากเดิมไม่บุ๋ม) หรือผิวของเต้านมลักษณะคล้ายเปลือกส้ม
  • ผื่น สะเก็ด หรือคันบริเวณหัวนม
  • น้ำผิดปกติไหลจากหัวนมเช่น สีเลือด หรือสีขุ่นคล้ายหนอง

หลักการคลำเต้านมด้วยตัวเอง

การคลำหรือการคลึงเต้านมด้วยตัวเอง จะให้บริเวณสัมผัสของปลายนิ้ว 3 นิ้วคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยการตรวจเต้านมหากตรวจข้างไหนต้องใช้มือด้านตรงข้ามในการคลำหรือคลึง การคลำหรือคลึงจะใช้วิธีการสัมผัสเป็นวงกลมและเคลื่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยกนิ้วมือสัมผัสขึ้นจากผิวของเต้านม โดยการคลำหรือคลึงต้องทำให้ได้ทุกพื้นที่ของเต้านม รวมถึงบริเวณหางนม ( บริเวณระหว่างช่วงหัวนมถึงไหล่ข้างนั้น ) และบริเวณรักแร้ การคลำอาจจะทำได้หลายรูปแบบด้วยกันเช่น เป็นรูปวงกลมก้นหอย รูปซิกแซกขึ้นลง หรือรูปรัศมีพระอาทิตย์ เมื่อตรวจเต้านมข้างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการตรวจเช่นเดียวกันในเต้านมอีกข้าง หากสัมผัสได้ก้อนหรือไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนอย่าลังเลที่จะไปพบหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

check

วิธีการที่ใช้ในการตรวจหามะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกมีหลายวิธี คือ

  • การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ควรเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม หรือ ดิจิตอล แมมโมกราฟฟี่ นั้นเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่ถ่ายภาพและ เก็บรักษาภาพไว้ในฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถอ่านผลได้สะดวก และตรวจพบมะเร็งได้ง่ายขึ้นด้วยความสว่างและคมชัดของภาพ ทำให้แพทย์สามารถ ขยายจุดที่น่าสงสัยและสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากสามารถเห็นเงาการเกาะตัวของแคลเซี่ยมในเต้านมได้ ชัดเจนกว่าระบบเดิม ยิ่งกว่านั้น ยังเหมาะแก่ผู้รับการตรวจที่มีเนื้อเยื้อเต้านมลักษณะเฉพาะที่อาจดูกลมกลืนกับเนื้อร้ายได้ จึงทำให้ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่มะเร็งเต้านมได้เร็วยิ่งขึ้น
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง เข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ทำให้สามารถตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อปกติกับก้อนในเต้านมได้ และยังสามารถตรวจสอบได้ว่า ก้อนในเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือ เป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวด์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อย หรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย
  • การตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นการตรวจมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก โดยแพทย์จะคลำบริเวณเต้านมและบริเวณใต้วงแขน เพื่อตรวจหาว่ามีก้อนผิดปกติ หรือไม่นอกจากนั้นยังตรวจจากลักษณะต่างๆ ด้วย เช่น รอยบุ๋มตุ่มหรือไตที่แข็งผิดปกติ การดึงรั้งที่ผิดปกติของหัวนม หรือการมี ของเหลว เช่น น้ำเหลืองหรือน้ำเลือดออกมาจากหัวนม การตรวจด้วยแมมโมแกรม และ อัลตราซาวด์ มีข้อดีและประโยชน์แตกต่างกันไป แต่การตรวจทั้ง 2 อย่างจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?