โรคไข้เลือดออกลาสซา

โรคไข้เลือดออกลาสซา

HIGHLIGHTS:

  • ไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสแพร่เชื้อจากสัตว์ประเภทหนู โดยการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรือสัมผัสอุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ดื่มนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ
  • องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไข้ลาสซา เป็น 1 ใน 6 โรคติดต่ออันตราย และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
  • แม้ไข้ลาสซาจะได้ชื่อว่าไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาเฉพาะเจาะจงในแต่ละวัย อาการของโรคมีทั้งแบบไม่แสดงอาการหรืออาการคล้ายไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า  กรณีรุนแรงมากอาจ ตกเลือด ช็อก และเสียชีวิตได้

เมื่อราวปีค.ศ. 2016  องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ไข้ลาสซา (Lassa Fever) เป็น 1 ใน 6 โรคติดต่ออันตรายที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง! ด้วยสาเหตุว่ายังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ   ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ จนกว่าจะกลับมาหายดี ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

สาเหตุของไข้ลาสซา (Lassa Fever )

ถูกพบครั้งแรกในปีค.ศ. 1969  ในประเทศไนจีเรีย ว่าการระบาดมาจากหนู ซึ่งเป็นพาหะนำมาสู่คน และติดต่อจากคนไปยังคนได้  จากนั้นการระบาดเริ่มรุนแรงและกว้างขวางขึ้นในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ถือเป็นโรคที่มีการติดเชื้อและอันตรายกับทุกเพศและทุกวัย

ไข้ลาสซา หรือไข้เลือดออกลาสซา (LASSA HEMORRHAGIC FEVER – LHF) เป็นไข้เลือดออกชนิดหนึ่งที่เกิดจากไวรัสลาสซา (Lassa virus)  สายพันธุ์ Arenavirus ต่างจากโรคไข้เลือดออกเพราะพาหะไม่ได้มาจากยุง แต่แพร่เชื้อจากสัตว์ประเภทหนู โดยการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ  หรือสัมผัสอุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ดื่มนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการแพร่เชื้อในห้องปฏิบัติการ หรือ โรงพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การปนเปื้อนเชื้อในเข็มฉีดยาที่ใช้ซ้ำ  หรือติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง อุจาระ ปัสสาวะ ของผู้ป่วย อีกทั้งยังสามารถแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย  เชื้อไวรัสนี้มีระยะฟักตัว 7 –  21 วัน

อาการของไข้ลาสซา

ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ บางครั้งอาจพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดหัว ปวดท้อง หน้าและคอบวม ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโต หายใจลำบาก มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกจากปาก จมูก และเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการทางระบบประสาท รวมถึงภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ในที่สุด

การวินิจฉัยโรคไข้ลาสซา

สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสจากการตรวจเลือดดูแอนติบอดี้ และการตรวจปัสสาวะ

การรักษาไข้ลาสซา

โรคนี้รักษาโดยการดูแล ประคับประคองอาการและให้ยาต้านไวรัสไรบาวาริน Ribavarin ซึ่งได้ผลดีหากให้ตั้งแต่ระยะแรกที่เกิดอาการ

การป้องกันไข้ลาสซา

ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันโรคไข้ลาสซาที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขอนามัยของทั้งตัวเอง คนรอบข้างและส่วนรวมให้ดี  หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รับประทานอาหารสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค  ดูแลความสะอาดภายในที่อยู่อาศัย  โดยเฉพาะการกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค

แม้ไข้ลาสซาจะได้ชื่อว่าไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาเฉพาะเจาะจงในแต่ละวัย  อาการของโรคมีทั้งแบบไม่แสดงอาการหรืออาการคล้ายไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า  กรณีรุนแรงมากอาจ ตกเลือด ช็อก และเสียชีวิตได้

จากการศึกษาในประเทศไนจีเรียพบการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีมากถึง 50% เด็กที่ป่วยเป็นไข้ลาสซาเสียชีวิตถึง 23% ทั้งนี้ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตของทารก 87% เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อ  ดังนั้นก่อนเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงการระบาด ควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง รวมถึงสร้างวินัยตนเอง รักษาความสะอาด ใส่ใจการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด มั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงเมื่อเดินทางกลับมาแล้วยังคงต้องคอยเฝ้าระวังดูอาการตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้น อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?