เมื่อทำการสวนสีหัวใจดูแล้ว หากพบว่าหลอดเลือดตีบหรือตันตรงไหน ก็จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด การทำบอลลูนก็เหมือนกับการทำความสะอาดถนน ขจัดสิ่งกีดขวางออกไป จากถนนที่มีสิ่งกีดขวางเหลือ 2 เลนแคบๆ ก็ขยายเป็น 4 เลน 8 เลนได้เหมือนเดิม การทำบอลลูน คือ การใส่ขดลวดเพื่อถ่างหรือดันไขมันสะสมที่มาขวางทางเดินของหลอดเลือดอยู่ ทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันโล่งขึ้น เลือดสามารถไหลผ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น
ในสมัยก่อนเมื่อใส่ขดลวดเข้าไประยะหนึ่ง เมื่อหลอดเลือดขยายตัวกลับคงสภาพเดิมแล้ว ก็จะทำการนำขดลวดออก แต่ปัญหาคือเมื่อนำขดลวดออกแล้วทำให้หลอดเลือดหดตัวกลับไปตีบเหมือนเดิม จึงได้มีการพัฒนาตัวขดหลวดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถใส่ไว้ในหลอดเลือดได้โดยไม่ต้องเอาออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ กลับเกิดพังผืดไปเกาะบริเวณรอบๆ ขดลวดทำให้หลอดเลือดกลับไปตีบตันอีก หรือตีบตันมากขึ้น จึงมีการพัฒนาขดลวดไปอีกระดับโดยการเคลือบยาป้องกันไม่ให้มีพังผืดมาเกาะ ทำให้หลอดเลือดคงสภาพได้ดีเหมือนเดิม โอกาสกลับมาตีบตันน้อย
ในการรักษาโรคต่างๆ เป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้ผู้ป่วยกลับมาสู่สภาพปกติมากที่สุด ให้ร่างกายกลับไปเป็นเหมือนเดิมมากที่สุด ไม่อยากให้มีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ล่าสุดจึงมีการพัฒนาขดลวดที่สามารถย่อยสลายได้เอง แต่ตัวขดลวดจะมีความอ่อนกว่าปกติ หากเจอผนังหลอดเลือดที่หนาๆ ก็จะไม่สามารถใส่ขดลวดนี้ได้ ขดลวดแบบย่อยสลายได้เอง จึงเหมาะกับรอยโรคที่ไม่แข็งตัวมาก และความยาวของการตีบตันไม่มาก ซึ่งจะสลายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลอดเลือดก็จะกลับมาสู่สภาพปกติเหมือนเดิม
ถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ จะมีการพัฒนากันอย่างไม่หยุดยั้ง ช่วยให้สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ง่ายและดียิ่งขึ้น แต่หากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเอง ทานตามใจฉัน จัดไขมันเข้าร่างกันเหมือนเดิม ต่อให้เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน หลอดเลือดหัวใจก็มีโอกาสกลับไปตีบตันได้เหมือนเดิม
“ไม่ใช่เฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเท่านั้น แต่กับโรคต่างๆ ก็เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น โรคความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด ฯลฯ ล้วนมาจากการใช้ชีวิตอย่างประมาททั้งสิ้น กิน ดื่ม เที่ยว นี่มีเวลา แต่การออกกำลังกายกลับอ้างว่าไม่มีเวลา กินเข้าไปแต่ไม่ได้นำออกมา โรคต่างๆ จะถามหากันได้ง่ายๆ อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ งดหวาน มัน เค็ม ใครที่น้ำหนักเกิน ก็ควรลดน้ำหนัก ยิ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยแล้ว ถึงแม้จะใส่บอลลูน ขยายหลอดเลือดให้กลับไปเป็นปกติแล้วก็ตาม แต่หากใช้ชีวิตแบบเดิมก็อาจกลับมาตีบตันได้ การใส่บอลลูนในหลอดเลือดหัวใจก็เหมือนกับการซ่อมรถ ซ่อมแล้วก็ต้องหมั่นบำรุงรักษา ไม่เช่นนั้นมันก็จะกลับไปพังเหมือนเดิมนะครับ”