โรคลมแดด ภัยร้ายแอบแฝงช่วงหน้าร้อน

โรคลมแดด ภัยร้ายแอบแฝงช่วงหน้าร้อน

HIGHLIGHTS:

  • โรคลมแดดเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
  • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนในร่างกายสะสม และเกิดโรคลมแดดตามมาได้
  • หากมีอาการของโรคลมแดดเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นจนถึงแก่ชีวิตได้ 

ในปัจุบันนี้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะโลกร้อน (Global warming) สำหรับประเทศไทยนั้นก็เผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นกัน

โรคลมแดด เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโรคลมแดดเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เป็นเหตุให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส

ในภาวะปกติเมื่อความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ร่างกายจะมีขบวนการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย โดยการสร้างเหงื่อ เพราะร่างกายต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ คือ ระหว่าง 36.5 – 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อใดก็ตามหากร่างกายเสียสมดุล จนไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดโรคลมแดดได้ทันที

โรคลมแดด มีความรุนแรงหลายระดับ และมีอาการแสดงตั้งแต่อาการบวมหรือผื่นขึ้น เป็นตะคริว อ่อนเพลีย หรือแม้กระทั่งเป็นลมหมดสติ ซึ่งแนวทางการรักษาและความเร่งด่วนก็จะแตกต่างกันไป

อาการของโรคลมแดด

สำหรับสัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคลมแดด ได้แก่

  • เป็นตะคริว
  • หน้าแดง ตัวร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • หน้ามืด
  • คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน
  • มึนงง สับสน
  • ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน
  • รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หรือมีอาการชักเกร็ง

หากอาการเหล่าเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นจนถึงแก่ชีวิตได้  ซึ่งโรคลมแดดแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่ว ๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย ถ้าหากมีอาการรุนแรง ถึงขั้นหมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669 อย่าปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงอยู่นาน เพราะอาจมีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน ชัก ตับวาย เป็นต้น

บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคลมแดด” ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • เด็ก
  • ผู้ที่อดนอน
  • ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด
  • ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดัน-โลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน
  • นักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

แนวทางการรักษาเบื้องต้น

ผู้ป่วยโรคลมแดดควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  โดย”เป้าหมายของการรักษา คือ การลดอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ป่วย”

การรักษาเบื้องต้นเมื่อพบผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคลมแดดคือ พาออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน ให้ไปอยู่บริเวณที่ร่มกว่า จากนั้นให้ลดอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยให้ถอดเสื้อผ้าเดิมออก ยกขาสูง พรมน้ำทั่วๆร่างกาย และ ให้มีลมพัดผ่านตัวตลอดเวลา เพื่อช่วยพาความร้อนออกไป  ประคบผ้าเย็นทั่วๆ ตัว หรือน้ำแข็งบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และรีบขอความช่วยเหลือ หรือโทรเรียกรถพยาบาล

การป้องกันเกิดโรคลมแดด

  • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนในร่างกายสะสม และอย่าใช้พลังงานมากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ และพยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ดังนั้นควรดื่มน้ำ 2 ลิตร ต่อวัน หรือ ประมาณอย่างน้อย 8 แก้ว ต่อวัน
  • หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยการอาบน้ำ หรือ เป่าพัดลม เปิดแอร์ หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวก อุปกรณ์ป้องกันแดด
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและไม่รัดแน่นจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็นอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด รวมถึงการนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้ถึงแม้จะเปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถยนต์สามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?