เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายและพฤติกรรมการกินของคุณแม่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ คุณแม่บางคนกังวลว่าลูกในท้องจะไม่แข็งแรง จึงหาอาหารต่าง ๆ มาบำรุงครรภ์จนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน แต่บางคนก็กลัวอ้วน กลัวว่าหลังคลอดจะลดน้ำหนักลงได้ยาก จนกลายเป็นว่าไม่ยอมกินอะไรเลย
แล้วกินแบบไหนจึงจะพอดี มีประโยชน์สำหรับลูกในท้อง และทำให้หุ่นคุณแม่ยังสวย ไม่ย้วย… ไม่เยิน…
มีประเด็นคำถามที่น่าสนใจ เกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และแนวทางการกินอาหารที่ถูกวิธีสำหรับแม่ตั้งครรภ์มาฝากกันค่ะ
ในช่วงไตรมาสแรก น้ำหนักของคุณแม่ไม่ควรขึ้นเกิน 2 กิโลกรัม ส่วนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ควรขึ้นสัปดาห์ละไม่เกินครึ่งกิโลกรัม หมายความว่าตลอดการตั้งครรภ์ น้ำหนักของคุณแม่ไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 12-15 กิโลกรัม ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ค่อนไปทางท้วม (BMIมากกว่า25) น้ำหนักขณะตั้งครรภ์ไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 8 ถึง 10 กิโลกรัมค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลายชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนการลดน้ำหนักหรืออดอาหารขณะตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ketosis ซึ่งส่งผลกับพัฒนาการทางสมองของลูกได้
เป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ ในแต่ละวัน คนเราควรกินอาหารที่ให้พลังงานราว 2,200 กิโลแคลอรี แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินให้มากกว่าเดิมประมาณ 350-450 กิโลแคลอรี่เท่านั้น
วิธีการกินที่ถูกวิธีคือแบ่งมื้ออาหารให้เป็นมื้อเล็กๆ และกินบ่อย ๆ แทนการกินครั้งละเยอะๆ หากว่ากลัวอ้วน มื้อเช้ากับกลางวันให้กินตามปกติ ส่วนมื้อเย็นก็อาจจะกินโปรตีน นม และคาร์โบไฮเดรตในระดับที่เหมาะสม และหลังจากกินอาหาร ไม่ควรนอนทันที ควรเดินเล่นหรือนั่งเล่นซักพัก
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และเน้นวิธีการประกอบอาหารด้วยการต้ม นึ่ง ลวก แทนการทอด ผัด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสหวาน ขนมจุกจิก เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงอาหารจานด่วนที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ
ถ้าทำตามนี้ได้ น้ำหนักของคุณแม่จะขึ้นทีละน้อย ส่งผลให้น้ำหนักตัวไม่มากเกินไป หลังคลอดแล้วจะกลับมาฟิตหุ่นให้เหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็วค่ะ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่