พ่อแม่ไม่ยอมแพ้...เมื่อลูกแพ้ (ยา)

พ่อแม่ไม่ยอมแพ้...เมื่อลูกแพ้ (ยา)

HIGHLIGHTS:

  • การแพ้ยาไม่จำเป็นต้องแสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรก เด็ก ๆ อาจมีอาการแพ้หลัง รับประทานยาในอนาคตก็ได้
  • หากมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
  • อย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่า ลูกน้อยแพ้ยาอะไร มีอาการแพ้อย่างไร

แพ้ยา (Drug Allergy) อีกหนึ่งอาการภูมิแพ้ที่พ่อแม่ควรรู้

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยอาจรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องตอบคำถามมากมายเมื่อต้องพาลูกไปโรงพยาบาลด้วยอาการไข้เพียงเล็กน้อย แต่การซักประวัติโดยแพทย์หรือพยาบาลนั้นมีผลต่อการให้ยาอย่างมาก เพราะหากเด็กมีอาการแพ้ยาบางชนิด อาจส่งผลให้กลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพที่รุนแรงได้

เด็กๆ อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองจากการใช้ยาแบบไม่พึงประสงค์ ทั้งแบบที่คาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้ ดังนี้

  • ปฏิกิริยาที่คาดเดาได้ เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาเช่นยาลดน้ำมูกมีผลทำให้ง่วงนอน หรือยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เมื่อใช้ร่วมกัน นอกจากนี้อาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาด
  • ปฏิกิริยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ได้แก่ การแพ้ยาซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาหรือส่วนประกอบของยาที่ได้รับเข้าไป จึงสร้างสารเคมีมาต่อต้านยาหรือส่วนประกอบของยานั้น โดยแสดงอาการแพ้ในลักษณะแตกต่างกัน

แม้การแพ้ยานี้จะเป็นส่วนน้อยของปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์แต่ถือว่าเป็นอาการที่สำคัญโดยเฉพาะหากมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง(Anaphylaxis) อาจมีอันตรายถึงชีวิต

การแพ้ยาไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าเลยว่าลูกน้อยจะแพ้ยาตัวไหน การแพ้ยาสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในระหว่างที่รับประทานยานั้น ๆ และในบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากยาเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดภายหลังรับประทานยาไปแล้วสักพัก

* การแพ้ยาไม่จำเป็นต้องแสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรก เด็กๆ อาจมีอาการแพ้หลังรับประทานยาในครั้งต่อไปในอนาคตก็ได้

อาการแพ้ยา

  • เกิดผื่นที่ผิวหนังหรือลมพิษ
  • มีอาการคัน
  • หายใจมีเสียงวี๊ด หายใจลำบาก หายใจเหนื่อย
  • มีอาการบวมที่ปากและตา
  • ความดันโลหิตต่ำ

นอกจากนี้ยังมีอาการแพ้ยาอื่นๆ ที่พบไม่บ่อยนักแต่มีอาการรุนแรงเช่นกัน มักเกิดหลังจากใช้ยาไปนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์เช่น

  • อาการแพ้ที่มีอาการไข้ ปวดข้อ มีผื่น
  • อาการผื่นผิวหนังรุนแรง มีผื่นพุพอง ผิวหนังลอก ได้แก่โรคทีอีเอ็น (Toxic Epidermal Necrolysis) และกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome)
  • อาการผื่นแพ้ที่มีร่วมกับอาการอื่น เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบวม ตับ-ไตอักเสบ

การแพ้ยาที่พบบ่อย

  • แพ้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อ) ได้แก่ กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)เป็นต้น
  • แพ้ยากันชัก
  • แพ้ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด- NSAIDs)
  • แพ้ยาชา
  • แพ้ยาเคมีบำบัด

การวินิจฉัยการแพ้ยา

  • การซักประวัติจากระยะเวลาการใช้ยา เวลาที่รับประทานยา อาการที่เกิดขึ้น และประวัติการได้รับยาก่อนหน้านี้ รวมถึงประวัติการแพ้ยา
  • การตรวจร่างกาย
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นการทดสอบโดยการใช้ยาที่คาดว่าเด็กจะแพ้ในปริมาณเล็กน้อย สะกิดเข้าไปภายใต้ผิวหนังหากเด็กที่มีอาการแพ้ ผิวหนังจะแดง คัน และเป็นตุ่มขึ้นมา การทดสอบนี้มีความแม่นยำสูงในกลุ่มที่แพ้ยาเพนิซิลลิน
  • ทดสอบโดยทดลองให้ยาที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ (Drug challenge) โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

การรักษาอาการแพ้ยา

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้
  • รับประทานยาแก้แพ้เพื่อควบคุมอาการ
  • พาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที หากอาการแย่ลงหรือกรณีที่มีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะนับเป็นอาการแพ้อย่างรุนแรง

หากลูกน้อยอยู่ในกลุ่มคนไข้แพ้ยา

  • อย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่า ลูกแพ้ยาอะไร มีอาการแพ้อย่างไร
  • สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรว่ามียาคล้ายๆกันที่ต้องหลีกเลี่ยงอีกหรือไม่
  • สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงยาทางเลือกอื่นที่ใช้แทนยาที่เด็กๆ แพ้
  • พกบัตรประจำตัวเด็กแพ้ยาไปพบแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพราะในบัตรจะระบุยาและอาการไว้

เมื่อลูกน้อยไม่สามารถตอบหรือถามแพทย์ได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเป็นตัวแทน หมั่นสังเกตอาการ และไม่ยอมแพ้ต่อความป่วยไข้ของลูก

อย่าเบื่อที่จะตอบคำถามแพทย์ เพียงเพราะลูกน้อยร้องไห้โยเย เพราะการซักประวัติมีความสำคัญต่อการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมาหลังการใช้ยา

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?