รู้ทันโรคกับอาการเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ

รู้ทันโรคกับอาการเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ

ทุกวันนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปไลฟ์สไตล์ของคนจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กิจกรรมในแต่ละวันของคนเรานั้นง่ายขึ้นสะดวกขึ้น จึงทำให้เราได้เคลื่อนไหวน้อยลง คนเราสบายมากขึ้นน่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งชีวิตง่ายขึ้นเรากลับยิ่งมีโรค อย่างโรคหนึ่งที่ปัจจุบันเป็นกันมากนั่นก็คือ โรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ โรคนี้คืออะไรมีความน่าสนใจอย่างไร มาติดตามกันเลยดีกว่า

มาทำความรู้จักกับโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือกัน

โรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ ในทางการแพทย์เรียกว่า Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS เป็นกลุ่มโรคที่พบมากในผู้ที่ใช้ข้อมือทำงานมากๆ เช่น กลุ่มแม่บ้านที่ทำกับข้าว ซักผ้า ถักนิตติ้ง และคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ โดยโรคนี้เกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ โดยเส้นประสาทนี้จะทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง และควบคุมกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ ถ้าโพรงของเส้นประสาทนี้ตีบแคบ ก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือถึงนิ้วนาง

เส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือพบได้บ่อยแค่ไหน

ในปัจจุบันโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือพบได้บ่อยมากขึ้น พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยตามธรรมชาติแล้วโพรงของเส้นประสาทข้อมือของผู้หญิงมักจะแคบกว่าในผู้ชายจึงมักจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่านั่นเอง และวัยที่จะพบโรคนี้ก็จะอยู่ในช่วงอายุ 30 – 50 ปี

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือคืออะไร

สาเหตุสำคัญของโรคนี้คือ การใช้ข้อมือและมือซ้ำๆ ตัวอย่างสาเหตุที่พบว่าเกิดบ่อยที่สุด คือ การใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์และรวมถึงการใช้อุปกรณ์เสริมของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น เม้าส์ เป็นเวลานานด้วยเช่นกัน โดยการใช้เม้าส์จะทำให้เราอยู่ในท่างอข้อมือขึ้นเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่การกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็มีหลายประการตั้งแต่ปัจจัยทางร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถ้าเกิดกระดูกหัก หรือข้อหลุด บริเวณข้อมืออาจเคลื่อนไปทำให้ช่องโพรงของเส้นประสาทข้อมือนี้แคบลงจนทำให้เกิดการกดเบียดที่เส้นประสาทได้ ปัจจัยเรื่องเพศ และการใช้งานก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจัยโรคเรื้อรังต่างๆ ก็ส่งผลเช่นกัน คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรครูมาตอยด์ พวกนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือทั้งสิ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ดูเผินๆ เหมือนจะไม่เกี่ยวก็คือการตั้งครรภ์ แต่จริงๆ ก็ส่งผลเช่นกัน เพราะในช่วงที่คุณผู้หญิงตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เกิดภาวะสารน้ำคั่งภายในร่างกาย ซึ่งสารน้ำหรือของเหลวต่างๆ ก็จะมากดทับเส้นประสาทนี่จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการของโรคนี้

อาการของโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยจะมีอาการชา เหน็บหรือปวดแสบเหมือนถูกเข็มทิ่มบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง มีอาการปวดบริเวณมือ บางรายอาจมีอาการนิ้วหัวแม่มืออ่อนแรง ซึ่งทำให้หยิบจับสิ่งของล่าช้า กำมือได้ไม่แน่น หยิบจับอะไรก็จะหล่นจากมือทันที ส่วนมากก็จะปวดมากหรือมีอาการมากในช่วงเวลากลางคืน

โรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือรักษาได้อย่างไร

การรักษาโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ สามารถทำได้ 2 แนวทางด้วยกันคือ

  1. รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งอาจรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบและบวม ใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือ เพื่อลดการอักเสบโดยจำกัดการเคลื่อนไหวข้อมือ หากยังไม่ดีขึ้นแพทย์ก็จะใช้วิธีฉีดยาที่เป็นสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
  2. รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งถ้าทำการรักษาตามข้อ 1 ทั้งหมดแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ทีนี้แพทย์ก็จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัด ซึ่งมีการผ่าตัด 2 ชนิดได้แก่ 1.การผ่าเปิดแผลปกติ มีข้อดีคือมองเห็นชัด แต่มีข้อเสียคือ มีการเจ็บแผลผ่าตัดมาก ใช้เวลานานกว่าจะหาย 2.การผ่าตัดผ่านกล้อง (Endoscopic) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบMIS (Minimally Invasive Surgery) เป็นที่นิยมมากขึ้นซึ่งมีข้อดี คือ มีแผลเล็กเจ็บน้อยมาก สามารถกลับไปใช้งานปกติได้เร็ว ซึ่งหลังผ่าตัดเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้เลยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

ครั้งนี้เราได้รู้ทันโรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือกันไปแล้ว ต่อไปนี้จึงควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเสียใหม่ เพื่อเป็นการป้องโรค หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานบ่อยๆ อย่าอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงอข้อมือซ้ำไปมา ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทำงานของเราให้ถูกต้องเหมาะสม ก็ช่วยได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคนี้ได้ รู้ทันโรคก็ควรจะให้ห่างไกลโรคคุณว่าจริงไหม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?