สเตียรอยด์ (Steroid) กับเด็กเนโฟรติก ผลข้างเคียงที่ควรรู้
- ต้องใช้ Steroid นาน จะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงอะไรไหม?
- การป้องกันการติดเชื้อจะทำอย่างไรได้บ้าง?
- ต้องมีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษไหม หากเป็นโรคนี้?
- เด็กจะฉีดวัคซีนได้ตามปกติหรือเปล่า?
……..คำถามข้างต้นที่เรายังติดค้างมาจากบทความแรกนะคะ ตอนนี้เรามารู้จักสเตียรอยด์ (Steroid) ยาที่ใช้ในการรักษามาตรฐานสำหรับเนโฟรติก Nephrotic syndrome กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะกันหน่อยดีกว่าค่ะ
Steroid เป็นยาที่มีมานานและมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างมากมายตั่งแต่ใช้สำหรับลดการอักเสบ รักษากลุ่มอาการจากภูมิแพ้ รักษาโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคมะเร็ง เป็นต้น มีข้อบ่งชี้เป็นมาตรฐานการรักษาโรคหลายอย่าง และมีประสิทธิภาพในการรักษาดี รวมทั้ง Nephrotic syndrome เองด้วย สเตียรอยด์ (Steroid) มีชื่อเล่นในกลุ่มชาวบ้านว่า “ยาผีบอก” เชื่อว่ารักษาโรคได้สารพัดเหมือนชื่อที่ตั้งให้ มีการปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรยาลูกกลอนบางยี่ห้อ ทำให้อาการอักเสบบางอย่างดีขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ายาได้ผลดี ได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นเร็ว แต่สิ่งที่มากับสิ่งเหล่านี้การใช้ในระยะยาว การไม่ตระหนักถึงภาวะแทรกซ้อน ผลข้างเคียงจากการใช้ การใช้โดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจจะทำให้เราได้บทเรียนราคาแพงจากยานี้มากกว่าที่เราคาดซะอีกนะคะ
แล้วเด็กเนโฟรติก Nephrotic syndrome ต้องใช้ Steroid นานสำหรับการรักษา จะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงอะไรไหม?
ยา Steroid มีข้อบ่งชี้ในการรักษาและเป็นยาตัวเลือกมาตรฐานในการใช้รักษา Nephrotic syndrome ในเด็ก ซึ่งส่วนมากตอบสนองต่อการรักษาดี การใช้สเตียรอยด์ในช่วงเวลาสั้นๆ มักไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหารุนแรง หรือปัญหาในระยะยาวอะไร ซึ่งผลข้างเคียงยาที่พบบ่อยก็จะมี
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น กินจุกินเก่ง น้ำหนักขึ้นเร็ว
- หน้าบวมกลม หน้าแดง
- ขนดกตามใบหน้าและตามตัว
- มีอารมณ์พฤติกรรมเปลี่ยน อารมณ์ก้าวร้าว อารมณ์ขึ้นๆลงๆ
- กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้องบ่อย
แต่ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ก็อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงจากยาได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับว่าตอบสนองต่อการรักษาดีแค่ไหน อัตราการเกิดเป็นซ้ำบ่อยแค่ไหน ระดับยา ขนาดยาที่ให้ เป็นชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด และระยะเวลาการทานยายาวนานมากน้อยแค่ไหนด้วย