เจ็บแน่นหน้าอก ขณะออกกำลังกาย ให้ระวัง

เจ็บแน่นหน้าอก ขณะออกกำลังกาย ให้ระวัง

HIGHLIGHTS:

  • การเช็กสมรรถภาพของหัวใจ ก่อนออกกำลังกาย จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตขณะออกกำลังกายได้
  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก ร้าวไปที่กราม หลัง ไหล่ซ้าย ต้นแขนซ้าย หรือลงไปถึงลิ้นปี่ แต่ไม่ถึงสะดือ อาการสัมพันธ์กับการออกแรง หรือออกกำลังกาย เป็นอาการ ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

เจ็บแน่นหน้าอก ขณะออกกำลังกาย ให้ระวัง

ปัจจุบันเทรนด์ดูแลสุขภาพเป็นที่นิยมอย่างสูงทั้งในวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ นอกจากเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากออกกำลังกายในขณะที่ร่างกายไม่พร้อมหรือหักโหมมากเกินไป อาจเกิดผลเสียและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังเช่นที่เป็นข่าวเสมอว่านักกีฬาระดับโลกหัวใจวายขณะแข่งขัน หรือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จู่ๆ ก็เกิดน็อคไปกระทันหัน

สาเหตุการเสียชีวิตระหว่างการออกกำลังกายจากโรคหัวใจ แบ่งได้ 2 กลุ่ม

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี กลุ่มนี้มักมีโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่แสดงอาการ และตรวจพบได้ยาก
  • อายุมากกว่า 35 ปี มักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยมีอาการอยู่แล้ว แต่ไม่สนใจ หรือถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน สุขภาพแข็งแรง และอยู่ในวัยที่ไม่ได้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แต่อาจมีเส้นเลือดหัวใจตีบโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อออกกำลังกายอย่างหักโหม จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน นำไปสู่การสียชีวิต

เจ็บหน้าอกแบบไหน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หากเจ็บแปล๊บๆ จี๊ดๆ อยู่ดีๆ ก็เจ็บ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย เจ็บเวลาขยับตัว หรือเป็นอยู่ราว 1-2 สัปดาห์ ก็หายไป อาการแบบนี้ มักเกิดจากการเคลื่อนไหวผิดท่า ผิดจังหวะ หรือจากความเครียด รวมถึงอาจเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกอักเสบ จากการถูกยืด ดึง รั้ง ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย หากเป็นบ่อยๆ การรับประทานยาก็สามารถช่วยให้หายเร็วขึ้น

แต่หากจุดเกิดเหตุอยู่ตรงกลางหน้าอก เจ็บแน่นหน้าอกแล้วร้าวไปที่กราม หลัง ไหล่ซ้าย ต้นแขนซ้าย หรือลงไปถึงลิ้นปี่ แต่ไม่ถึงสะดือ อาการสัมพันธ์กับการออกแรง หรือออกกำลังกาย แบบนี้น่าเป็นห่วง เพราะเป็นอาการ ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์หรือนำคนป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน การถึงมือแพทย์เร็วโอกาสรอดชีวิตก็มีมากขึ้น
แม้เทรนด์การออกกำลังจะเป็นที่นิยมอย่างสูง อีกทั้งช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่การออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไปก็อาจเกิดผลเสียตามมา แนะนำให้ผู้ที่จะออกกำลังกายอย่างจริงจัง ปรึกษาแพทย์ทางด้านโรคหัวใจ เพื่อทำการตรวจ เช่น กราฟหัวใจ (Electrocardiogram – EKG) การทดสอบโดยการเดินสายพาน (Exercise stress test – EST) การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เพื่อป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตขณะออกกำลังกาย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?