การทดสอบโรคภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy Blood Test)

การทดสอบโรคภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy Blood Test)

HIGHLIGHTS:

  • การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา และป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้
  • การทดสอบเลือดในโรคภูมิแพ้ สามารถทดสอบได้ในผู้ที่ไม่สามารถทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิดได้ หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารที่จะทำการทดสอบ และยังทดสอบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่มีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ ทั้งทางผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้นต้องอาศัยทั้งประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและอดีต ประวัติครอบครัว และการตรวจร่างกาย มาประกอบกันเพื่อวินิจฉัยให้ตรงโรคที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยแยกโรคที่อาจไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ แต่เป็นโรคทางกายอื่นๆ ได้อีกด้วย 

ตรวจภูมิแพ้ มีกี่วิธี

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งประวัติและการตรวจร่างกายอาจไม่ชัดเจน จึงต้องอาศัยผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการทดสอบพิเศษสำหรับโรคภูมิแพ้โดยตรง เช่น

  1. การทดสอบทางผิวหนัง มีหลายวิธี เช่น การสะกิดผิวหนัง การฉีดยาเข้าในชั้นผิวหนัง การแปะสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง
  2. การเจาะเลือดหาภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ชนิด immunoglobulin E (IgE) เป็นการเจาะเลือดเพื่อดูค่า IgE เฉพาะสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดในเลือด
  3. การทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยแต่ละรายโดยตรงในบางโรค เช่น ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้หลังการรับประทานอาหาร การให้รับประทานอาหารที่คิดว่าแพ้ทีละน้อยอย่างเป็นขั้นตอนก็ถือเป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) ในการวินิจฉัยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การเลือกวิธีการทดสอบในโรคภูมิแพ้จะเป็นไปตามดุลยพินิจของอายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิกเป็นหลัก ร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย ซึ่งการทดสอบแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ในบทความนี้จะขอพูดถึงการทดสอบโดยการเจาะเลือด

การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดเหมาะกับใคร

อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก จะพิจารณาการทดสอบโดยการเจาะเลือดแทนการทดสอบทางผิวหนังและวิธีอื่นๆ หากผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ที่ผิวหนังมีการอักเสบมาก หรือมีผื่นลมพิษชนิด dermatographism
  2. ผู้ที่เคยมีการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารที่ต้องการทดสอบ เช่น เคยแพ้อาหารที่สงสัย หรือสารที่ต้องการทดสอบอย่างรุนแรงชนิด anaphylaxis มาก่อน การทดสอบผิวหนังแบบสะกิดอาจกระตุ้นให้มีอาการได้ขณะทดสอบ ดังนั้นการเจาะเลือดจึงเหมาะสมกว่า
  3. ผู้ที่ไม่สามารถหยุดยาต้านฮีสตามีน หรือยาอื่นๆ ที่มีผลรบกวนการทดสอบได้
  4. สามารถทำในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้

ชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่สามารถตรวจได้จากเลือด

การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด หรือที่นิยมใช้กันมีชื่อย่อว่า RAST (radioallergosorbent test) เป็นการเจาะเลือด เพื่อหาภูมิคุ้มกันชนิดที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (specific IgE) ทั้งสิ่งที่ปะปนในอากาศและอาหาร เช่น ไรฝุ่น สุนัข แมว เกสรหญ้า ไข่ แป้งสาลี ถั่วลิสง นมวัว กุ้ง

บางแห่งก็ได้รวบรวมเป็นชุดๆ ไว้ เช่น ชุดอาหารทะเล ชุดอาหารทั่วไป ชุดถั่ว เป็นต้น

ก่อนเจาะเลือด อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิกจะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยและตรวจร่างกายก่อนเพื่อพิจารณาร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าควรเจาะเลือดตรวจสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด

ขั้นตอนการตรวจภูมิแพ้ ด้วยการเจาะเลือด

  • แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของผู้รับการตรวจ เช่น ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว อาการที่สงสัยว่าจะเป็นภูมิแพ้ ประวัติการแพ้ ประวัติยาที่รับประทานประจำ เป็นต้น
  • จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อค้นหาความผิดปกติที่ปรากฎหรือซ่อนอยู่ (เพราะการแปลผลเลือดทุกครั้งต้องใช้ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าว นำมาประกอบการวินิจฉัย)
  • จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการ เจาะเลือดตรวจภูมิแพ้ โดยเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดผิวหนัง และใช้สายรัดรัดบริเวณที่จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อให้เห็นเส้นเลือด แล้วใช้เข็มเล็กๆ สอดเข้าไปในเส้นเลือด โดยส่วนใหญ่จะเจาะแขนด้านในบริเวณข้อศอก หรือหลังมือ
  • เมื่อได้เลือดตามต้องการแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำยางรัดออกจากแขน จากนั้นจะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการรอผลเลือดประมาณ 7-14 วัน

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด

  • ก่อนเจาะเลือดควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกก่อน เพื่อเลือกทดสอบในสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย หรือมีแนวโน้มเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคนั้นๆ จริง
  • ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร และงดยาแก้แพ้ก่อนการตรวจ
  • แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หลวมสบาย เสื้อแขนสั้น หรือไม่รัดแขน เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด

หากไม่มีอาการ จำเป็นต้องทดสอบภูมิแพ้หรือไม่

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก เบื้องต้นต้องกล่าวก่อนว่า การป้องกันทางภูมิแพ้มีหลายระดับ ตั้งแต่

  • การป้องกันปฐมภูมิแบบหนึ่ง (Primary Prevention) นับเป็นการป้องกันสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้น หรือ Sensitise ตั้งแต่เด็ก
  • การป้องกันทุติยภูมิ (Secondary Prevention) คือ หากมีสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้นแล้วต้องป้องกัน หรือยืดเวลาที่เกิดอาการ
  • และสุดท้าย การป้องกันแบบตติยภูมิ (Tertiary Prevention) คือ เมื่อเกิดอาการหรือเป็นโรคภูมิแพ้แล้วต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้น

การทดสอบโรคภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด ในผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น มีมารดาเป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคู่ มีลักษณะของการแพ้ที่เรียกว่า Atopic เช่น มีผื่นคันเรื้อรังตั้งแต่เล็ก มีภูมิแพ้ทางจมูก ป่วยด้วยโรคหืดตั้งแต่เด็ก ฯลฯ เพื่อดูว่าเกิด sensitization จากสารก่อภูมิแพ้หรือยังถือเป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention)

ส่วนผู้ที่มีอาการบ่อยๆ และสงสัยจะเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว การทดสอบก็เป็นการป้องกันระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อให้รู้ถึงสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการลดอาการ และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ในที่สุด


กล่าวโดยสรุปแล้ว การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น ทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้ได้ ส่งผลให้อาการแพ้ดีขึ้นกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ หากต้องการเข้ารับการทดสอบว่าตนเองมีอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นใดๆ หรือไม่ แนะนำว่าควรเข้ารับการทดสอบในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางทดสอบ อ่านผลและให้การรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการทดสอบ และได้ผลการทดสอบที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?