อยากสวยต้องอดทน คือ คติประจำใจของคุณผู้หญิง ใส่ส้นสูงเข้าไว้จะได้มีสง่าราศี ท่วงท่าในการเดินจะได้ดูดี ถึงแม้บางทีต้องยอมรับว่าเวลาลงจากส้นมาแล้วอาจมีอาการปวด เมื่อย ตึง บ้างก็ตาม ยิ่งทุกวันนี้รองเท้าของคุณสุภาพสตรีมีแต่สูงขึ้นสูงขึ้น โดยลืมไปว่าธรรมชาติของเท้าคนเรา ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักตัวเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของเท้าเท่านั้น อาการปวดหลังจากการใส่รองเท้าส้นสูงจึงพบได้มากขึ้น
ตามโครงสร้างของร่างกายคนเราบริเวณหลังช่วงเอวจะโค้งไปข้างหน้าอยู่แล้ว เมื่อใส่รองเท้าส้นสูงหลังจะยิ่งถูกดันไปข้างหน้ามากขึ้น อกจะถูกดันมาข้างหลัง เพื่อให้ร่างกายได้สมดุล ยิ่งส้นสูงมากเท่าไหร่ยิ่งต้องแอ่นหลังไปข้างหน้ามากขึ้นเท่านั้น จึงต้องเกร็งกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ ประกอบกับในกระดูกสันหลังจะมีกระดูกเป็นปล้องๆ และข้อต่อเล็กๆ มาเรียงกัน เมื่อเกิดการกดน้ำหนักลงไปที่จุดใดจุดหนึ่งมากกว่าปกติ การกระจายน้ำหนักไม่ทั่วถึง จึงเป็นการเพิ่มภาระให้กับข้อต่อเล็กๆ ในกระดูกสันหลังเหล่านั้น ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
ถ้าใส่รองเท้าธรรมดาไม่มีส้น การรับน้ำหนักจะกระจายอยู่ทั่วเท้า แต่เมื่อไหร่ที่ใส่รองเท้าส้นสูง น้ำหนักจะไปอยู่ที่เท้าด้านหน้า 70% ด้านหลัง 30% ตรงกลางโล่งโจ้ง จึงเกิดแรงกดทับอยู่ที่ด้านหน้าเพียงจุดเดียว มีงานวิจัยบางงานบอกว่าถ้ารองเท้าส้นสูง 1 นิ้ว สามารถเพิ่มแรงกดทับได้ 22% ปัจจุบันผู้หญิงเราใส่รองเท้าส้นสูง 4-5 นิ้ว คิดไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ว่าเท้าและหลังของเราจะถูกเพิ่มแรงกดทับไปกี่เปอร์เซ็น นอกจากนี้แล้ว การใส่รองเท้าส้นสูงอาจไม่ได้ทำให้ปวดหลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังปวดที่ส้นเท้า ข้อเท่า น่อง เข่า สะโพกได้อีกด้วย เพราะร่างกายของคนเราสามารถบาลานซ์ได้ถึงกันหมด
สิ่งที่ต้องระวังของสาว ๆ ที่ชอบใส่ส้นสูงคือ การตกตึก หรือเท้าพลิกจากการใส่รองเท้าที่สูงเกินไป อันนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องปวดหลัง แต่จะทำให้ข้อเท้าพลิก แพลง หรือถึงขั้นหักได้นะครับ
ท่านั่ง เป็นท่าที่ต้องรับแรงดันในช่องกระดูกสันหลังมากที่สุด การนั่งนานๆ จึงมีส่วนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดของกล้ามเนื้อ เพราะการนั่งนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวไม่ได้ผ่อนคลาย ตามหลักทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรนั่งนานติดต่อกันเกิน 30 นาที ควรลุกขึ้นมาเปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถกันบ้าง นั่นจึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ ที่ล้วนแล้วแต่นั่งติดโต๊ะกันเป็นนานสองนานทั้งนั้น ส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
นอกจากการนั่งนานแล้ว ท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง นั่งหลังงอ ห่อไหล่ ก้มใส่คอมพิวเตอร์ แบบนี้แค่ปวดหลังยังไม่พอ อาการยังลามไปที่คอ ไหล่ สะโพก และขาได้เช่นกัน
การนั่งที่ถูกต้อง คือ ต้องนั่งหลังตรงแบบสบายๆ ตามธรรมชาติ แผ่นหลังแนบไปกับพนักพิงเก้าอี้ ลำตัวตั้งตรง ขาตั้งฉากกับพื้น ทิ้งน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อก้มมองจอคอมพิวเตอร์ สายตาอยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แขนในการใช้คีย์บอร์ด ต้องเก็บศอกทั้งสองข้างให้ชิดกับลำตัว ให้ส่วนของข้อมือกับข้อศอกอยู่ในแนวเส้นตรง ทำมุม 90 องศากับไหล่ นั่งถูกท่า เปลี่ยนอริยาบถ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ได้แล้วครับ
การขับรถต้องอยู่ในท่านั่งซึ่งอย่างที่บอกว่าหลังต้องรับแรงดันสูงอยู่แล้ว แถมยังไม่ได้นั่งสบายๆ เหมือนการนั่งแบบอื่น เพราะการขับรถต้องใช้สมาธิมากในการควบคุมสิ่งต่างๆ รอบกาย ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดัน ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า ปวดหลัง แขน ขาได้ และถ้าเป็นคนที่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวเยอะ หรือมีโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเดิมอยู่แล้วแบบนี้อาจส่งผลให้ปวดหลังมากขึ้นได้
เข่าต้องสูงกว่าสะโพกเล็กน้อย เบาะนั่งควรอยู่ในระยะที่พอเหมาะพอดีกับพวงมาลัยไม่ห่างหรือชิดจนเกินไป เพื่อให้เราควบคุมพวงมาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาสามารถเหยียบแป้นได้น้ำหนักพอสมควร
ท่านั่งที่แรงดันในช่องกระดูกสันหลังจะน้อยคือ เอนไปด้านหลังประมาณ 20 องศา และแผ่นหลังควรมี Back Support แต่ก็ต้องแล้วแต่สรีระของแต่ละคนด้วยเช่นกันว่าควรปรับเอนแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
สำหรับบางคนชอบคิดว่าท่านั่งกึ่งเอนนอนนั้นให้ความสบายแต่ความจริงแล้วมันกลับเพิ่มแรงกดไปที่เอว เพิ่มความเมื่อยล้าให้กับหลัง และท่านั่งกึ่งนอนอาจทำให้คุณหลับคาพวงมาลัยก็เป็นได้
“การใส่รองเท้าสูงเกินไป การนั่งหรือการขับรถนานเกินไป บวกกับท่าทางที่ไม่ถูกต้องอาจไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงแต่ก็ส่งผลให้คุณปวดหลังได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ใช้ให้ถูกต้อง หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จากอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อธรรมดาๆ อาจทำให้กระดูกสันหลังมีปัญหาก็เป็นได้ หรือใครที่มีอาการปวดหลังอยู่แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้หลังต้องเจ็บช้ำกันมากขึ้นนะครับ”
หมอขอฝากไว้อีกอย่าง คือ อย่าละเลยเรื่องหลัง หากมีอาการปวดหลังเฉียบพลัน เรื้อรัง หรืออาการผิดปกติของหลัง ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม อย่าปล่อยไว้ อย่าวินิจฉัยโรคเอง มาปรึกษาหมอเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงจะดีกว่า ไม่งั้น จากอาการน้อย ๆ อาจลุกลามจนถึงขั้นต้องผ่าตัดเลยก็ได้นะครับ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่