อาการปวดหลัง

อาการปวดหลัง

ใครบ้างที่ไม่เคยปวดหลัง?
หากถามคำถามนี้ขึ้นมาคงมีคนไม่มากนักที่ตอบว่า “ไม่เคย”

เพราะว่าร้อยละ 80 ของคนทั่วไปต่างผ่านการปวดหลังกันมาแล้วทั้งนั้น ก็อย่างที่ทราบๆ กัน กระดูกสันหลังนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะเป็นแกนกลางของการเคลื่อนไหว เมื่อมีอาการปวดขึ้นมาย่อมทำให้กังวลใจยิ่งนัก

ทำไมเราถึงปวดหลัง?

อาการปวดหลังมักเกิดกับวัยทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี สาเหตุจากการพลัดตก นั่งผิดท่า นั่งขับรถนานๆ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ การยกของหนักโดยไม่ระมัดระวัง การทำงานเกี่ยวกับดึงรั้งผลักดันสิ่งของหนักๆ เหล่านี้ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ในผู้ที่สูงอายุตั้งแต่ 50-60 ปี อาการปวดหลัง มักเกิดจากความเสื่อมของข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดงอ กระดูกยุบ หรือหักพรุน นอกจากนั้นยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อ บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ เนื้องอกในกระดูกสันหลัง เนื้องอกของเนื้อเยื่อประสาท เป็นมะเร็งที่อื่น เช่น ปอด ตับ ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมลูกหมาก แล้วกระจายมาที่กระดูกสันหลัง และสิ่งที่มักไม่มีใครคาดคิดก็คือการสูบบุหรี่ สารพิษของบุหรี่จะทำให้เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังค่อนข้างเร็ว ทำให้กระดูกบางและพรุน และทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว หรือแม้แต่คนอ้วน มีน้ำหนักตัวเยอะก็เกิดอาการปวดหลังได้

การรักษาและฟื้นฟูอาการปวดหลัง

อาการปวดหลังแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ

  • ปวดที่หลัง ซึ่งจะปวดตื้อๆ ปวดตึงๆ หรือหลังแข็ง ก้มไม่ค่อยลง
  • ปวดร้าวลงขา เกิดจากโพรงหรือช่องกระดูกสันหลังตีบ จะมีอาการปวดชาๆ ถ้าเคลื่อนมากจะกดทับรากประสาทสันหลัง มีผลทำให้ขาชาไม่มีแรง

เมื่อหมอตรวจแล้วพบว่ากล้ามเนื้อไม่อ่อนแรง การวินิจฉัยอาการปวดหลังนั้น จะดูพิจารณาจากประวัติปวดหลัง การตรวจร่างกาย แต่บางครั้งถ้ามีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขาร่วมด้วย อาจต้องถ่ายภาพรังสีตรวจด้วยเครื่อง CT.MRI เพื่อการวินิจฉัยที่ละเอียดขึ้น สำหรับกระบวนการรักษา จะมีทั้งการให้ความรู้คนไข้ ให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ และการผ่าตัด

หลังจากนั้นจะเป็นการฟื้นฟูร่างกาย โดยหมอจะแนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่จะทำได้ ไม่ให้นอนพักนานเกิน 2-3 วัน เพราะหากนอนพักนานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งแนะนำท่านอน ท่านั่ง ท่ายกของ การขับรถต้องปรับเก้าอี้นั่งให้ถูกต้อง เมื่อหายปวดก็จะกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพราะมิฉะนั้นจะกลับมาเป็นอีก โดยจะยืดกล้ามเนื้อหลังและสะโพก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยืดกล้ามเนื้อลำตัวเพื่อพยุงกระดูกสันหลัง หากรักษาอย่างถูกวิธี รู้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องจะทำให้กล้ามเนื้อกลับมาใกล้เคียงกับปกติ แต่หากว่าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นจะต้องผ่าตัด เช่น มีอาการปวดหลังมากและร้าวลงขา ขาไม่มีแรง ขาชา มีไข้ คนไข้มีโอกาสต้องเข้าผ่าตัดประมาณ 15%

ทำอย่างไรให้กระดูกสันหลังคงสภาพดี ไม่สึกหรอง่าย?

คำแนะนำคือ ควรนั่งหลังตรงมีพนักพิง ไม่นั่งผิดท่านานเกินไป เวลายืนให้ขาหย่อน อย่าเอื้อมแขนยกของสูง ดันดีกว่าดึง ย่อตัวยกอย่าก้มยกของ หิ้วของหนักพอประมาณด้วยแขนทั้งสองข้าง นอนให้ถูกท่า อย่าปล่อยตัวให้อ้วน ไม่ควรสูบบุหรี่ ออกกำลังกายให้เหมาะสมเป็นประจำ และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อเริ่มปวดหลัง ฉะนั้นจึงพึงระวังไว้เรื่องการปวดหลังไม่ใช่เรื่องล้อเล่นควรจะปรึกษาแพทย์มิฉะนั้นมันอาจจะลุกลามรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดกันเลยทีเดียว

อาการปวดหลังที่ต้องรีบไปพบแพทย์

1. อาการปวดหลังต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีสาเหตุจาก

  • หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อน
  • ข้อต่อกระดูกสันหลังเลื่อน
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับรากประสาทสัมผัส
  • ช่องไขสันหลังตีบแคบ มีอาการปวดหลัง ชาลงขาเวลาเดิน เมื่อหยุดพักอาการดีขึ้น
  • กระดูกสันหลังเคลื่อน ปวดร้าวลงขา โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน
  • กระดูกสันหลังคด

2. อาการปวดหลัง ภายหลังก้มยกของ เกิดจากกระดูกสันหลังพรุนหักยุบ
3. อาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ชาขา
4. อาการปวดหลังและปวดขา เป็นมากขึ้นเมื่อเหยียดเข่า ยกขาสูง หรือก้มหลัง
5. อาการปวดหลังมากเมื่อหกล้ม ก้นกระแทกพื้น
6. เคยมีประวัติเป็นเนื้องอก มะเร็ง แล้วมีอาการปวดหลัง ประกอบกับมีน้ำหนักตัวลด
7. ปวดหลังและมักมีไข้ตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลด
8. มีอาการผิดปกติในระบบขับถ่าย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการชารอบๆ ทวารหนัก

หากไม่แน่ใจสามารถพบแพทย์เฉพาะทางโรคปวดหลังเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่

แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ (Orthopedic Department)

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โทร. 02-378-9242 หรือ 9244

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?